คลังโต้ทุกเสียงค้าน ยันเก็บภาษีหุ้นเหมาะสม ไม่กระทบต้นทุน-สภาพคล่อง

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

“อาคม” รมว.คลัง ยืนยันเก็บภาษีขายหุ้นไทม์มิ่งเหมาะสม ตลาดทุนไทยเข้มแข็งมาก มีขนาดมาร์เก็ตแคป 20 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า GDP ประเทศ โตขึ้นกว่า 22 เท่าจากปี 2535 ที่ได้รับการยกเว้น หวังเพิ่มความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ ด้าน “ลวรณ” อธิบดีกรมสรรพากร ยันกระทบคนกลุ่มน้อย พร้อมยกเว้นภาษี Market Maker เผยภาระต้นทุนเต็มเพดานแค่ 0.22% ของยอดขาย เทียบประเทศศูนย์กลางทางการเงินยังแข่งขันได้-ไม่กระทบสภาพคล่อง

วันที่ 2 ธันวาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงต่อมาตรการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย (Financial Transaction Tax: FTT) ว่า วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีของผู้มีรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ประกอบกับภาษีดังกล่าวถูกยกเว้นมานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 (หากรวมภาษีการค้ายกเว้นมาเกือบ 40 ปี) ซึ่งตอนนั้นตลาดทุนไทยมีขนาดมาร์เก็ตแคปอยู่แค่ 9 แสนล้านบาท ยังเป็นช่วงยุคการก่อตั้ง เพื่อให้มาตรการภาษีช่วยไม่เป็นภาระและให้ตลาดทุนเติบโตอย่างเข้มแข็ง

แต่ในปี 2565 ตลาดทุนไทยมีการเติบโตขึ้นค่อนข้างมากกว่า 22 เท่า หรือมีขนาดมาร์เก็ตแคปสูงกว่า 20 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าขนาด GDP ของประเทศไปแล้ว จึงมองเป็นเวลาที่เหมาะสม และคลังก็ได้มีการหารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มานานเป็นปีแล้ว ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะสอดคล้องไปกับแผนปฏิรูปภาษีที่ถูกบรรจุไว้อยู่แล้ว

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า คลังมั่นใจว่าวันนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว และนับเป็นความกล้าหาญของรัฐบาล และมั่นใจว่าตลาดทุนไทยมีความเข้มแข็ง พิจารณาจากวันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการเรื่องนี้ ดัชนี SET Index ยังยืนบวกอยู่ได้สะท้อนว่านักลงทุนไม่ได้เพนิกมาก ดังนั้นการจัดเก็บภาษี FTT ควรจะนำกลับมาบังคับใช้ให้เป็นสากล ประเมินปีแรกคาดว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่ม 8,000 ล้านบาท และปีต่อ ๆ ไปจะมีรายได้ปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท เพราะตลาดทุนไทยมีการเติบโตขึ้นทุกปี

โดยการยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าวอาจส่งผลให้ภาระต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหุ้นไทยสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% ของยอดขาย (กรณีเต็มเพดาน) แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย

ทั้งนี้ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055% ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ 0.195% ซึ่งใกล้เคียงกับสิงคโปร์ แต่อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยในระยะยาว

“ขอเน้นย้ำว่าเราจะไม่พลาดโอกาสในการเป็นศูนย์ทางการเงิน เพราะการจัดเก็บภาษี FTT เทียบประเทศศูนย์กลางทางการเงินแล้วยังใกล้เคียงกัน อาทิ ฮ่องกง มีการเก็บภาษีหุ้นทั้งฝั่งซื้อและขาย 0.13% เกาหลีใต้ เก็บภาษีหุ้นฝั่งขาย 0.23% ไต้หวัน เก็บภาษีหุ้นฝั่งขาย 0.30% และฝั่งขายหุ้นกู้อีก 0.10% อังกฤษ เก็บภาษีฝั่งซื้อและกำไรขายหุ้น 0.50% อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านภาษีอาจไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นศูนย์กลางด้านการเงินและการลงทุน”

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวอีกว่า วันนี้บัญชีซื้อขายหุ้นไทยมีประมาณ 5 ล้านบัญชี แอ็กทีฟอยู่ราว 1 ล้านบัญชี หรือประมาณ 11% ราว 1 แสนคนที่เทรดหุ้นอยู่ 95% ส่วนหุ้นอีก 5% เทรดอยู่ครอบคลุมคนอีก 89% เพราะฉะนั้นกระทบต่อนักลงทุนไม่มาก แต่กลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเสียงดังหน่อยจึงเกิดประเด็นขึ้นมาบ้าง แต่หากได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ผู้เสียภาษีก็น่าจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น” นายลวรณ กล่าว

อย่างไรก็ตามคลังได้มีการยกเว้นจัดเก็บภาษี FTT ในกลุ่มผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเภทคือ 1.บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บล./บลจ.) 2.สำนักงานประกันสังคม 3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 5.กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 6.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 7.กองทุนการออมแห่งชาติ และ 8.กองทุนรวม ซึ่งขอให้มั่นใจว่าไม่ได้เอื้อแก่นักลงทุนรายใหญ่แต่อย่างใด