เก็บภาษีขายหุ้น สรรพากรยกเคสต่างประเทศ เก็บอย่างไรกันบ้าง

ภาษี

หลังจากที่กระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ (ภาษี FTT) ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เริ่มจัดเก็บภาษีประมาณเดือน เม.ย. 2566 เป็นต้นไป โดยปีแรก หลังจากกฎหมายบังคับใช้จนถึงสิ้นปี 2566 จะเก็บที่อัตรา 0.0055% (รวมภาษีท้องถิ่น)

ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเสียงโต้แย้งต่าง ๆ นานา ออกมาเป็นระลอก รวมถึงข้อกังวลที่ว่าประเทศไทยอาจจะพลาดโอกาสในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมสรรพากรได้นำเสนอข้อมูลตัวอย่างการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ของบุคคลธรรมดาประเทศอื่น ๆ เพื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของไทย

โดย “ลวรณ แสงสนิท” อธิบดีกรมสรรพากร ยืนยันว่า ประเทศไทยจะไม่พลาดโอกาสในการเป็นศูนย์ทางการเงิน เพราะการจัดเก็บภาษี FTT เมื่อเปรียบเทียบประเทศศูนย์กลางทางการเงินแล้วยังใกล้เคียงกัน

อาทิ ฮ่องกงที่มีการเก็บภาษีหุ้น ทั้งฝั่งซื้อและขาย 0.13% เกาหลีใต้ เก็บภาษีหุ้นฝั่งขาย 0.23% ไต้หวัน เก็บภาษีหุ้นฝั่งขาย 0.30% และฝั่งขายหุ้นกู้อีก 0.10% อังกฤษ เก็บภาษีฝั่งซื้อและกำไรขายหุ้น 0.50% (ดูภาพประกอบ 1)

“ขอเน้นย้ำว่า เราจะไม่พลาดโอกาสในการเป็นศูนย์ทางการเงิน เพราะการจัดเก็บภาษี FTT เทียบประเทศศูนย์กลางทางการเงินแล้วยังใกล้เคียงกัน และปัจจัยด้านภาษีอาจไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นศูนย์กลางด้านการเงินและการลงทุน” อธิบดีกรมสรรพากรระบุ

นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพากรยังชี้ว่า การเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวอาจส่งผลให้ภาระต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหุ้นไทยสูงขึ้นบ้าง จาก 0.17% เป็น 0.22% ของยอดขาย (กรณีเต็มเพดาน 0.11%) แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย (ดูภาพประกอบ 2)

“ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055% ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ 0.195% ซึ่งใกล้เคียงกับสิงคโปร์ แต่อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยในระยะยาว” อธิบดีกรมสรรพากรยืนยัน

พร้อมระบุว่า วันนี้บัญชีซื้อขายหุ้นไทยมีประมาณ 5 ล้านบัญชี แอ็กทีฟอยู่ราว 1 ล้านบัญชี หรือประมาณ 11% ราว 1 แสนคนที่เทรดหุ้นอยู่ 95% ส่วนหุ้นอีก 5% เทรดอยู่ครอบคลุมคนอีก 89% เพราะฉะนั้นกระทบต่อนักลงทุนไม่มาก แต่กลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเสียงดัง จึงเกิดประเด็นขึ้นมาบ้าง แต่หากได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ผู้เสียภาษีก็น่าจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น


“มั่นใจว่าวันนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว และนับเป็นความกล้าหาญของรัฐบาล และมั่นใจว่าตลาดทุนไทยมีความเข้มแข็ง พิจารณาจากวันที่ ครม. รับหลักการเรื่องนี้ ดัชนี SET Index ยังยืนบวกอยู่ได้สะท้อนว่านักลงทุนไม่ได้แพนิก (ตื่นตระหนก) มาก ดังนั้นการจัดเก็บภาษี FTT ควรจะนำกลับมาบังคับใช้ให้เป็นสากล” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว