เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือน จับตาสัปดาห์หน้า ทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือนตามสกุลเงินภูมิภาค เงินเยนและเงินหยวน สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่เผชิญแรงขาย หลังข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอลง หนุนการคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุม FOMC รอบแรกของปีนี้ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ผลประชุม BOJ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย

วันที่ 14 มกราคม 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือนที่ 32.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยในระหว่างสัปดาห์ ประกอบกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียขยับแข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่องตามทิศทางค่าเงินหยวนซึ่งยังคงได้รับอานิสงส์จากความหวังเรื่องการทยอยเปิดประเทศของจีน และค่าเงินเยนจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจปรับท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงิน

นอกจากนี้เงินบาทยังเพิ่มช่วงบวกได้ต่อจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขาย หลังข้อมูล CPI ของสหรัฐฯ ชะลอลงสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของตลาด ซึ่งยิ่งหนุนมุมมองว่า อัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และเฟดมีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 25 bps. ในการประชุมปลายเดือนนี้

กราฟค่าเงินบาท 13 ม.ค.66

ในวันศุกร์ที่ 13 ม.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-13 ม.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 10,480 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 18,990 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 19,069 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 79 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (16-20 ม.ค. 2566) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.70-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม BOJ การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนม.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และ Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามจีดีพีไตรมาส 4/65 และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธ.ค. ของจีน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนและอังกฤษเดือนธ.ค. ด้วยเช่นกัน

กราฟตลาดหุ้นไทย 13 ม.ค.66

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยย่อตัวลง หลังดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ จากความคาดหวังว่าเฟดจะชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับมีแรงหนุนจากแรงซื้อต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ แบงก์ และเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี หุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังจากตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควรทั้งประเด็นทิศทางดอกเบี้ยของเฟด และการเปิดประเทศของจีน ประกอบกับเผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการขายทำกำไรของกองทุนลดหย่อนภาษีที่ครบกำหนด

ในวันศุกร์ (13 ม.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,681.73 จุด เพิ่มขึ้น 0.47% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 78,526.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.53% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.41% มาปิดที่ระดับ 589.66 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (16-20 ม.ค. 2566) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,670 และ 1,650 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,710 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4/65 ของบจ. ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิดในจีน


ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค.ของยูโรโซน รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธ.ค. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร