ธุรกิจประกันผวาต่างชาติเข้าไทย เสี่ยงโควิดหวั่นซ้ำรอยเจอจ่ายจบ

นักท่องเที่ยวเข้าไทย
AFP/file photo

“คปภ.” เร่งถกธุรกิจประกัน ตั้งรับนักท่องเที่ยวทะลักเข้าไทย หลังจีนเปิดประเทศ แนะออกแบบกรมธรรม์ TA ขยายความคุ้มครอง ครอบคลุม “ค่าที่พัก-ตรวจ RT-PCR-ตั๋วเครื่องบิน” กรณีติดเชื้อโควิดต้องกักตัว-รักษาก่อนกลับประเทศ ตามนโยบาย “จีน-อินเดีย” ฝั่งบริษัทประกันภัยผวา มาตรการไม่ตรวจ “โควิด” ต่างชาติเข้าไทย ชี้ธุรกิจแบกความเสี่ยง “เคลม” หวั่นเงื่อนไขเพิ่มความคุ้มครอง “ค่าที่พัก-ตรวจ RT-PCR” ส่อทำธุรกิจเจ๊ง ซ้ำรอย “เจอ จ่าย จบ”

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.ได้ร่วมประชุมกับคณะกรรมการควบคุมโรค เพื่อเตรียมความพร้อมการรับประกันภัยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการควบคุมโรคแนะนำให้นักท่องเที่ยวต้องทำประกันภัยคุ้มครองการติดเชื้อโควิด วงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ และมีข้อเสนอแนะต่อภาคธุรกิจประกันภัยให้ช่วยออกแบบแพ็กเกจความคุ้มครอง ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล ค่าที่พักโรงแรมเพื่อกักตัว ค่าตรวจ RT-PCR และความคุ้มครองทางเลือกกรณีค่าตั๋วไฟลต์บินขากลับเข้าประเทศ

ปัจจุบันในตลาดประกันภัยไทยมีขายกรมธรรม์ประกันภัยการเดินทาง (Travel Accident Insurance : TA) ที่คุ้มครอง ครอบคลุมการเจ็บป่วย และการติดเชื้อโควิดอยู่แล้ว สามารถซื้อผ่านออนไลน์ได้เลย แต่ยังไม่คุ้มครองค่าที่พักโรงแรมเพื่อกักตัวระหว่างติดเชื้อโควิด ค่าตรวจ RT-PCR และค่าตั๋วไฟลต์บินขากลับเข้าประเทศ ดังนั้นในช่วงนี้หากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำประกันภัยการเดินทางตรวจพบเชื้อโควิด กรณีมีอาการหนักต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล สามารถเบิกสิทธิค่ารักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน (IPD) ได้เลย

แต่กรณีอาการไม่รุนแรงต้องจ่ายค่าที่พักโรงแรมเอง เพราะโดยมาตรฐานของประเทศไทย ถ้าติดเชื้อแล้วไม่มีอาการก็ให้กักตัวอยู่ที่บ้าน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR ซ้ำ กรณีต้องเอาผลไปแสดงก่อนกลับเข้าประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีบางประเทศที่กำหนดการตรวจคัดกรองผล RT-PCR ก่อนกลับเข้าประเทศ เช่น จีน, อินเดีย เป็นต้น นอกจากนี้หากไม่ระบุหรือเปลี่ยนไฟลต์บินขากลับไว้จะต้องจ่ายค่าตั๋วเดินทางใหม่เอง

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.อยู่ระหว่างทำหนังสือถึงเลขาธิการ คปภ.เพื่อลงนามแจ้งไปยังสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อให้แจ้งสมาชิกบริษัทประกันรับทราบถึงข้อมูลดังกล่าว หากบริษัทใดสนใจให้พิจารณาเงื่อนไขและดีไซน์ความคุ้มครองตามความเสี่ยงที่รับได้ เสนอให้สำนักงาน คปภ.พิจารณา โดยจะอนุมัติกรมธรรม์ให้เร็วเป็นพิเศษ

“เราต้องเตรียมการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยแล้ว แต่แนวทางดังกล่าวเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่บังคับ ฉะนั้นบริษัทประกันรายใดสนใจก็ยื่นขออนุมัติมาได้เลย” นายอาภากรกล่าว

ผวาซ้ำรอย “เจอ จ่าย จบ”

แหล่งข่าววงการประกันภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจประกันมีบทเรียนจากประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” มาแล้ว ดังนั้น โมเดลที่ คปภ.เสนอ คงไม่มีบริษัทใดกล้าเข้าไปรับประกันเพราะความเสี่ยงสูงมาก โดยเฉพาะความคุ้มครองค่าตรวจ RT-PCR ของคนจีนและอินเดีย ซึ่งต้องตรวจหาเชื้อโควิดทุกคน ถ้าพบติดเชื้อก็จะมีค่าที่พักโรงแรมเพื่อกักตัว และค่ารักษาพยาบาล สองส่วนนี้รับประกันได้ แต่ค่าเบี้ยประกันจะแพงมาก อีกทั้งยังกังวลว่าในบางประเทศ หากนักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาจากประเทศไทยแล้ว ยอดติดเชื้อโควิดสูง อาจมีการบังคับให้ตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศเพิ่มเติมอีก

และถ้าให้อนุมัติเบี้ยตามอัตราความเสี่ยงเชื่อว่าคงไม่มีใครซื้อ เพราะเบี้ยแพงมาก สมมุติคุ้มครองวงเงินไม่น้อยกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ (ทุนประกัน 350,000 บาท) ค่าเบี้ยประกันจะอยู่ราว 200,000 บาท ตามอัตราความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด ตอนนี้ข้อมูลในต่างประเทศรายงานพบว่า คนจีนเดินทางเข้าอิตาลี ติดเชื้อกว่า 50% เกาหลีใต้ 26% จากที่มีการตรวจโควิด

“แพ็กเกจความคุ้มครองตามที่รัฐเสนอแนะคงไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเราต่อต้าน แต่ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่การประกันภัย ฉะนั้นทำไม่ได้ และไม่มีใครกล้ารับประกัน เพราะถ้าอัตราการติดเชื้อในไทย 50% เราก็ต้องจ่ายเคลมสินไหมทั้งหมด 50% ถ้าให้เข้าไปรับ ก็อาจต้องลดทุนประกันลงเหลือ 100,000 บาท ค่าเบี้ยรวมต้นทุนค่าใช้จ่ายจะเหลือประมาณ 60,000 บาท”

สมาคมผวา ไม่ตรวจโควิดขาเข้า

นางสาวกัลยา จุกหอม ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมค่อนข้างกังวล เงื่อนไขภาครัฐที่ไม่ให้นักท่องเที่ยวตรวจ ATK หรือตรวจ RT-PCR มาก่อนเข้าประเทศไทย รวมถึงการยกเลิกตรวจผลฉีดวัคซีน 2 เข็ม เพราะค่อนข้างมีความเสี่ยง แต่จากการหารือเบื้องต้นกับ คปภ. ทางสมาคมยินดีให้ความร่วมมือในการเชิญชวน และกำลังประสานงานให้แต่ละบริษัทประกันที่สนใจไปดีไซน์แพ็กเกจความคุ้มครอง เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีบริษัทใด เข้ามารับประกันตรงส่วนนี้บ้าง

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวสามารถซื้อประกันตามข้อกำหนดความคุ้มครองได้อย่างอิสระ ทั้งจากประเทศต้นทางหรือผ่านเว็บไซต์บริษัทประกันในประเทศไทย ซึ่งบางแห่งมีขายอยู่แล้ว เช่น แอกซ่าประกันภัย ค่าเบี้ยประมาณ 2,000 กว่าบาท หรือทูนประกันภัย ค่าเบี้ยราว 400-500 บาท แต่จะคุ้มครองแค่ค่ารักษาพยาบาล

“ทูนฯ” ชี้ต้องคิด “เบี้ยแพง”

นายเบน อาศนะเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทูนประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนจีนหรืออินเดียถือเป็นโอกาส แต่ต้องพิจารณาความเสี่ยงเป็นตัวประกอบสำคัญ โดยกำลังให้ทีมพิจารณาสถิติการเดินทางเข้าประเทศ รวมไปถึงอัตราความเสียหาย (loss ratio) จากการจ่ายเคลมสินไหมที่เกิดขึ้น ซึ่งมีสถิติอยู่พอสมควร และหากเข้าไปรับประกันก็คาดว่าเบี้ยส่วนนี้จะแพง

และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ได้เข้าไปรับประกันโควิดนักท่องเที่ยวช่วงที่มีการแพร่การระบาดโควิด พบว่ายังพอมีกำไร เพราะบริษัทมีการพิจารณาสถิติ และราคาเบี้ยตลอดเวลา แต่เนื่องจากมาตรการวงเงินเอาประกันภัยจากรัฐบาลลดลงเรื่อย ๆ จากระดับ 100,000 เหรียญสหรัฐ เหลือ 50,000 เหรียญสหรัฐ ปัจจุบันเหลือเพียง 10,000 เหรียญสหรัฐ จึงมีผลต่อเบี้ยโดยตรงของ
บริษัท

โดยพบว่าในปี 2565 เบี้ยจากแบบประกันเดินทาง Tune iPass อยู่ที่ 151 ล้านบาท ลดลง 34% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากเทียบจำนวนกรมธรรม์หรือจำนวนลูกค้า ถือว่าเพิ่มขึ้น
จากเดิม 37% จาก 37,721 ฉบับ ขยับเป็น 51,092 ฉบับ

จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ซื้อประกันเดินทาง Tune iPass คิดเป็น 1% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 ซึ่งเกินกว่า 1 ล้านคนในแต่ละเดือน ขณะที่แบบประกันเดินทาง iTravel มีอัตราการเติบโตกว่า 3,095% หรือ 5.3 เท่า จากเบี้ย 1 แสนบาท ขยับเป็น 3 ล้านบาท เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด บวกกับเริ่มขาย iTravel ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564

“ปัจจุบันเราเป็นมาร์เก็ตลีดเดอร์แบบประกันเดินทาง ให้ความคุ้มครองทั้งความล่าช้าในการเดินทางหรือไฟลต์ดีเลย์ การสูญหายหรือเสียหายของกระเป๋าเดินทางหรือทรัพย์สินส่วนตัวภายในกระเป๋า และค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยครอบคลุมติดเชื้อ
โควิด และจากอุบัติเหตุ ค่าเบี้ยเริ่มต้น 195 บาท คุ้มครอง 7 วัน ไปจนถึงค่าเบี้ยกว่า 2,000 บาท คุ้มครองระยะเวลา 180 วัน โดยลูกค้าซื้อบนออนไลน์ 100% ได้รับกรมธรรม์ใน 5 นาที”

นายเบนกล่าวว่า สำหรับปี 2566 ตั้งเป้าเบี้ยประกันเดินทางจะเติบโต 10-15% จากปีก่อน ซึ่งจากการพูดคุยกับพาร์ตเนอร์จีน คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นอีกช่วงสิ้นไตรมาส 1/2566 เพราะจีนกำลังเตรียมตัวต่อพาสปอร์ต วีซ่า และเพิ่มไฟลต์บิน ขณะที่ยอดขายประกันจากคนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศก็มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะไปเที่ยวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้