ทวงหนี้แบบไหนไม่ผิดกฎหมาย อัพเดตล่าสุด สิ่งที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ไม่ควรทำ

กฎหมายทวงหนี้
ภาพจาก เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย

กฎหมายทวงหนี้ (อัพเดตล่าสุด) ปี 2566 รวมเรื่องควรรู้ แบบไหนที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ไม่ควรทำ

วันที่ 24 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เงินทองเป็นของหายาก มีหลายคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ทำให้หลายคนต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา เมื่อเป็นเช่นนั้นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิทวงหนี้ได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งกฎระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการทวงหนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายทวงหนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้สมควรรู้ไว้

ความหมายของลูกหนี้ และผู้ทวงถามหนี้

  • ลูกหนี้ หมายความว่า ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย
  • ผู้ทวงถามหนี้ หมายความว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเจ้าหนี้อื่น ซึ่งมีสิทธิรับชําระหนี้อันเกิดจากการกระทําที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้

ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง ผู้รับมอบอํานาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอํานาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอํานาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย

เงิน
ภาพจาก AFP

ใครมีสิทธิทวงหนี้ ?

ผู้มีสิทธิทวงหนี้คือ เจ้าหนี้โดยตรง อาจเป็นสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการสินเชื่อ/บัตรเครดิต/เช่าซื้อ ซึ่งครอบคลุมเจ้าหนี้นอกระบบ และเจ้าหนี้ในกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย (เช่น หนี้การพนัน) รวมถึงผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ตามกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจช่วง (ผู้ได้รับมอบอำนาจ จากผู้รับมอบอำนาจอีกทอดหนึ่ง) ผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย ซึ่งในกรณีผู้รับมอบอำนาจมาทุกกรณี หากลูกหนี้ทวงถามต่อหน้าต้องนำหลักฐานการมอบอำนาจมาแสดงด้วย

ทวงหนี้ได้วันละกี่ครั้ง ?

สามารถทวงได้ ไม่เกิน 1 ครั้ง/วัน หากฝ่าฝืนจะมีความผิด โดนโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 100,00 บาท (ถ้า “เพื่อนทวงเพื่อน” ทวงได้เกิน 1 ครั้ง/วัน)

ควรทวงหนี้เวลาไหนถึงจะไม่ผิดกฎหมาย ?

สามารถทวงหนี้โดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่าง 08.00-20.00 น. วันหยุดราชการ 08.00-18.00 น.

หากเจ้าหนี้ฝ่าฝืนเวลาทวงหนี้ มีโทษปรับ 100,000 บาท และต้องทวงกับลูกหนี้เท่านั้น ห้ามไปทวงกับคนอื่น มิฉะนั้นจะมีโทษจำคุก 1 ปี หรือ ปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

เจ้าหนี้ ห้ามทวงนี้ แบบไหนบ้าง ?

ลูกหนี้ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ดังนั้น เจ้าหนี้จะต้องทวงถามหนี้กับลูกหนี้อย่างสุภาพชน ให้เกียรติ ละเว้นการประจานดูหมิ่นให้ลูกหนี้เกิดความเสื่อมเสียและอับอาย เพื่อปกป้องสิทธิของลูกหนี้ กฎหมายจึงกำหนด ข้อห้ามต่าง ๆ ในเรื่องการทวงหนี้ไว้อย่างชัดเจน ได้แก่

1.ห้ามทวงถามหนี้กับคนอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้

2.ห้ามบอกความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่น เนื่องจากกฎหมายไม่ให้ประจานลูกหนี้ หรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง โดยบอกคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ยกเว้น เป็นคนในครอบครัวลูกหนี้ เช่น สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน และกรณีที่บุคคลอื่นถามเจ้าหนี้ว่า “มาติดต่อเพราะสาเหตุอะไร”

3.ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมาย หนังสือหรือสื่อใด ๆ ให้ (บุคคลอื่น) เข้าใจว่า ติดต่อเพื่อทวงหนี้

4.ห้ามติดต่อ แสดงตนทำให้ผู้ติดต่อด้วยเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้

5.ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น ถือว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

6.ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น

7.ห้ามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศ

ทวงหนี้
ภาพจาก PIXABAY

หากเจ้าหนี้ละเมิดข้อห้ามจะมีผลอย่างไร ?

หากพบว่ามี เจ้าหนี้หรือผู้ที่ทวงถามหนี้ฝ่าฝืนข้อปฏิบัติในการทวงหนี้ข้างต้น ถือว่ามีความผิด ประชาชนสามารถแจ้งร้องเรียนเอาผิดได้ โดยคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้สามารถมีคำสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับได้