ปีใหม่…อยากเห็นคนไทย “เบาหนี้”

ประชาชน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาตื
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

เข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2566 แล้ว ปีนี้เท่าที่ดูจากสถานการณ์ทั่วโลกแล้ว

ก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้

บรรดากูรูเศรษฐกิจวิเคราะห์กันว่า โลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเริ่มจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ และยุโรป

ส่วนประเทศไทย แม้ว่าเศรษฐกิจยังน่าจะมีการฟื้นตัวได้ แต่ก็ฟื้นอย่างยากลำบาก และเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าหลายอย่าง

สำหรับปีกระต่ายนี้ สิ่งที่อยากเห็นก็คือ “อยากเห็นคนไทย เบาหนี้”

เพราะช่วงที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 90% ของ GDP มาแล้ว

ซึ่งเหตุผลของการก่อหนี้ บางส่วนก็เข้าใจได้ โดยเฉพาะการก่อหนี้ในช่วงวิกฤตโควิด ที่หลายคนต้องพยายามพยุงครอบครัว ประคองธุรกิจให้อยู่รอด

อย่างไรก็ดี ก็ต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนหนึ่งที่ก่อหนี้จาก “ของที่ไม่จำเป็น” หรือ “ของมันต้องมี” อยู่ไม่น้อย

อันนี้แหละที่น่าเป็นห่วง

“แบงก์ชาติ” ในฐานะผู้คุมนโยบายการเงิน…ก็ห่วง

“เครดิตบูโร” ผู้เห็นไส้ในข้อมูลหนี้…ก็ห่วง

แล้วช่วงนี้ “ปี่กลองเลือกตั้ง” เริ่มโหมกันมากขึ้นแล้ว

ช่วงปีใหม่ขับรถผ่านไปหลายจังหวัดภาคอีสาน เห็นป้ายหาเสียง “พักหนี้” เต็มพรึ่บไปหมด

เพราะพรรคการเมืองคงเซอร์เวย์กันมาแล้วว่า จะเป็นนโยบายที่ถูกอกถูกใจประชาชนอย่างแน่นอน

เนื่องจากคนไทยจำนวนไม่น้อยยัง “จมหนี้” อยู่

“สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ” รายงานผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” สัญจร ครั้งที่ 1-3 พบว่ามีประชาชนเข้าร่วมงานมากกว่า 23,000 ราย คิดเป็นจำนวนเงินการขอใช้บริการทางการเงินและการแก้ไขหนี้รวมกว่า 14,000 ล้านบาท

และคาดการณ์ว่า การจัดงานอีก 2 ครั้งที่ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 20-22 ม.ค.นี้ และ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 27-29 ม.ค. จะมีผู้เข้าร่วมงานอีกกว่า 10,000 ราย

ขณะที่ข้อมูลจาก “เครดิตบูโร” ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า มีตัวเลขหนี้เสีย (NPL) คือ ค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.4% ของหนี้ครัวเรือน 14.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนลูกหนี้ประมาณ 5-5.5 ล้านคน

โดยกลุ่มนี้คือ “กู้แล้วผ่อนหนี้ไม่ได้ และไม่สามารถกู้เพิ่มได้”

แถมยังต้องจับตา กลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือน แต่ยังไม่ถึง 3 เดือน ที่เรียกว่า เป็นสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (SM) ที่มีประมาณ 3.1% คือ กลุ่มนี้ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่มีโอกาสตกชั้นเป็นหนี้เสีย

โดยประเภทหนี้ที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด ก็คือ “สินเชื่อส่วนบุคคล” มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท NPL อยู่ที่ราว 10.3% และที่กำลังจะเสียอีก 2.9% รวมกันแล้วแปลว่า มีหนี้ที่มีปัญหา 13.2%

ทั้งหมดนี้คงแก้ไม่ได้ง่าย หรือในเวลาอันรวดเร็ว แต่คงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันหลายฝ่าย ซึ่งขณะนี้กำลังรอ “แบงก์ชาติ” ออกเอกสารทิศทางและนโยบาย (directional paper) ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน เพื่อให้แบงก์ปฏิบัติ ภายในเดือน ม.ค.นี้

ว่ากันว่า จะเป็นการแก้ปัญหา “ตั้งแต่ต้นเหตุยันปลายเหตุ”…ได้หรือไม่…คงต้องติดตาม