แม่ทัพใหม่ KAsset ชูกลยุทธ์ครองใจผู้ลงทุน

อดิศร เสริมชัยวงศ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ได้รับแต่งตั้งเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดเรื่องแผนการขายหุ้นของธนาคารกสิกรไทย ที่เป็นบริษัทแม่ แต่ถึงขณะนี้เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด

โดย “อดิศร เสริมชัยวงศ์” ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของ KAsset เดินหน้าขับเคลื่อนองค์กร ผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นธุรกิจที่ครองใจลูกค้า ภายใต้แนวคิด Top of Mind Investment House ควบคู่การบูรณาการด้าน ESG ยกระดับตลาดทุนไทย

AUM 1.55 ล้านล้าน

โดย “อดิศร” เปิดเผยว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดการลงทุนค่อนข้างผันผวนมาก แต่ บลจ.กสิกรไทยยังสามารถรักษาตำแหน่งเบอร์ต้น ๆ ของอุตสาหกรรมได้ โดยภาพรวมสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ในปี 2565 หดตัวเหลือ 1.41 ล้านล้านบาท

ขณะที่กำไรหลักมาจากกองทุนรวม (Mutual Fund) ถึง 72% หรือประมาณ 9.9 แสนล้านบาท รองลงมา กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มีประมาณ 16% หรือ 2.3 แสนล้านบาท และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ประมาณ 13% หรือ 1.88 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ของ บลจ.กสิกรไทย อยู่ที่อันดับ 3 ของอุตสาหกรรม มูลค่าราว 1.8 แสนล้านบาท

สำหรับปี 2566 นี้ บลจ.กสิกรไทย ตั้งเป้า AUM เติบโต 10% แตะที่ 1.55 ล้านล้านบาท

เน้นจัดพอร์ตตามใจลูกค้า

“เราคิดว่าอุตสาหกรรมกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน เพราะทิศทางการลงทุนมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นถึงเวลาที่จะต้องพัฒนาต้องเดินไปข้างหน้า เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับการดูแลที่ดี” นายอดิศรกล่าว และว่า ในปีที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทย มีจำนวนผู้ลงทุนผ่านช่องทางดิจิทัล

ทั้งผ่าน K-PLUS และ K-My Funds จำนวน 357,086 ราย คิดเป็นสัดส่วน 43% จากจำนวนผู้ลงทุนทั้งหมด และสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ในทุกช่องทางรวม 136,842 ราย ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้งานแอปพลิเคชั่น โดยปรับปรุงเวอร์ชั่นใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

“สิ่งใหม่ที่กำลังพยายามทำให้มากขึ้นคือ Discretionary Portfolio Management (DPM) การจัดพอร์ตลงทุนตามใจลูกค้า ซึ่งในอดีตน่าจะเคยทำกันในลักษณะของธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล แต่ว่าวันนี้เราจะทำขึ้นมา เพื่อนำเสนอให้ลูกค้าตามความต้องการที่แตกต่างกันออกไป

และความเสี่ยงที่สามารถรับได้ ก็คาดว่าน่าจะเริ่มทำได้ภายในปีนี้ โดยจะมีการจับมือกับตัวแทนจัดจำหน่าย (Distributor) สัก 1 ราย ที่จะมาร่วมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ให้กับลูกค้า”

วางกลยุทธ์ 5 ด้าน ขยายธุรกิจ

สำหรับแผนกลยุทธ์ในปี 2566 ของ บลจ.กสิกรไทย ให้ความสำคัญใน 5 ด้าน คือ 1) มุ่งสร้างผลตอบแทนที่ดี ด้วยการต่อยอดและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่โดดเด่นอย่างสม่ำเสมอ 2) สร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน พร้อมกับคำแนะนำที่เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา

3) การดูแลคู่ค้าอย่างเข้าใจ เนื่องจากกลไกการทำธุรกิจการจัดการการลงทุน ไม่ได้เริ่มต้นและจบลงที่ บลจ. แต่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคาร, บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ที่มีความใกล้ชิดกับลูกค้าและมีความเข้าอกเข้าใจในความต้องการในการออมของลูกค้า

4) บริหารพอร์ตให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เนื่องจากปัจจุบันเงินของสถาบันในประเทศไทยมีค่อนข้างมาก และเริ่มเห็นหลาย ๆ สถาบันเริ่มนำเงินเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างเช่น สหกรณ์, มหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาล

5) ตัวช่วยวางแผนเกษียณ เพราะปัจจุบันคนไทยมีเงินออมไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของประเทศ โดยบริษัทจะเสนอตัวเลือกที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกเป้าหมายเกษียณให้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้า SMEs มากขึ้น

นำร่องขับเคลื่อน ESG กองทุน

นอกจากนี้ เทรนด์ ESG หรือการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ โดย บลจ.กสิกรไทย เป็นรายแรกในประเทศไทยที่มีการลงนามความร่วมมือ Principle for Responsible Investment (PRI) ซึ่งเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน

“ESG เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นภาพ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะต้องเดินไปทางไหน กรอบกติกาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคะแนน ESG ของบริษัท จัดการยังไม่ชัดเจนนัก เชื่อว่าอนาคตจะต้องมีไม้บรรทัดที่จะเป็นตัวกลาง ซึ่งหากภาครัฐจะผลักดันเรื่องนี้ก็จำเป็นจะต้องมีการออกกฎเกณฑ์

วันนี้การลงนาม PRI เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่อนาคตทั้งอุตสาหกรรมต้องมาคุยกัน หรือภาครัฐจะต้องเป็นคนกำหนด โดยเราเดินก้าวแรกให้เห็นแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นแนวทางให้อุตสาหกรรมเข้ามาเน้นเรื่องนี้มากขึ้น”

ทั้งหมดนี้คือ หนทางที่จะนำ บลจ.กสิกรไทย ก้าวไปสู่เป้าหมาย “Top of Mind Investment House ในธุรกิจจัดการลงทุน” ทำได้แค่ไหน คงต้องติดตาม