หุ้นประกัน ไตรมาส 1 กำไรพุ่ง โบรกฯ ประเมินปี 2566 ยอดขายโต 5%

หุ้นประกัน

หลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยเจอโจทย์ค่อนข้างยากและท้าทายอยู่หลายเรื่อง อย่างประกันชีวิตที่ต้องเผชิญภาวะดอกเบี้ยต่ำมานาน กว่าจะเข้าสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น กระทั่งดอกเบี้ยใกล้พีก (สูงสุด) แล้ว ส่วนประกันวินาศภัยก็เพิ่งเจอระเบิดลูกใหญ่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรงไป ถึงขณะนี้ผ่านไป 1 ไตรมาสของปี 2566 ดูเหมือนฟ้าหลังฝนจะเริ่มสดใสขึ้น

18 บริษัท กำไร Q1 พุ่ง 121%

โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทย เซ็กเตอร์ประกันภัยและประกันชีวิต (insurance) รวมทั้งสิ้น 18 บริษัท มีกำไรสุทธิรวมกัน 6,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 121% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และเพิ่มขึ้น 81% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) โดยมีรายได้รวม 61,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% YOY แต่ลดลง 14% QOQ

“กรกช เสวตร์ครุตมัต” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมประกันภัยปี 2566 ในภาพรวม น่าจะเติบโตสอดคล้องไปกับภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น

โดยคาดว่ายอดขายประกันใหม่ปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 4-5% ประกอบกับภาคธุรกิจไม่ได้แข่งขันด้านราคาที่รุนแรงเหมือนในอดีต เห็นได้จากธุรกิจประกันชีวิตลดการขายสินค้าชำระเบี้ยครั้งเดียว (single premium) หันมาเน้นขายสินค้าความคุ้มครอง (protection) กันมากขึ้น

“สินค้าความคุ้มครอง ทั้งประกันชีวิตแบบตลอดชีพและสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ให้กำไรที่ดีในระยะยาว รวมถึงอัตราดอกเบี้ยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังอยู่ในระดับที่ทำกำไรได้ จึงเป็นภาวะแวดล้อมที่เอื้อสำหรับการขายประกันใหม่

แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง คือภาพเศรษฐกิจไทย จากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจพลิกมาเป็นขาลง รวมถึงกฎระเบียบและข้อบังคับจากหน่วยงานกำกับที่อาจห้ามขายพ่วงประกันมากขึ้น ทำให้เวลาขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์) อาจทำได้ยากขึ้น”

ตาราง กำไรหุ้นประกันภัย

เทรนด์ขายผ่านแบงก์ถูกกระทบ

โดยเทรนด์ปีนี้ของช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ยังปรับตัวดีขึ้น แต่ถ้ามองระยะยาวอีก 2-3 ปีข้างหน้า อาจแย่ลง เพราะแบงก์จะค่อย ๆ ทยอยลดสาขาลง ซึ่งกดดันยอดขายประกันช่องทางนี้ โดยเบี้ยประกันจะย้ายไปบันทึกอยู่ในช่องทางอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ช่องทางขายประกันออนไลน์, ช่องทางขายประกันผ่านโบรกเกอร์ต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี “กรกช” กล่าวว่า บล.กสิกรไทย วิเคราะห์หุ้นประกันภัยเพียง 1 บริษัท คือ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) ซึ่งตอนนี้ราคาหุ้นค่อนข้างสวนทางกับพื้นฐาน โดยราคาหุ้นอยู่ที่ 25-26 บาทต่อหุ้น แต่หากประเมินตามมูลค่าปัจจุบันของกรมธรรม์ที่ขายไปแล้วทั้งหมด (embedded value) มีราคาหุ้นอยู่ที่ 40 บาทต่อหุ้น

ดังนั้น ราคาหุ้น BLA ยังดิสเคานต์อยู่เกือบ 40% โดยภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 1/2566 มีเบี้ยรับปีแรกเติบโตขึ้น 20% YOY และมีมาร์จิ้นเกินระดับ 50% จากเมื่อ 2-3 ปีก่อนทำได้แค่ 30%

“ตลาดไม่สนอง เพราะกำไรไม่เด่น แต่ต้องบอกว่า การดูงบกำไรของธุรกิจประกันชีวิต ต้องดูลึกกว่านั้น ดังนั้นเซนติเมนต์อาจไม่เอื้อ แต่เป็นหุ้นที่สะสมเพื่อลงทุนระยะยาวได้ ให้ราคาเป้าหมายสิ้นปีที่ 56 บาทต่อหุ้น ประเมินกำไร BLA ปีนี้ 4,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% YOY”

แนวโน้ม 3 ไตรมาสที่เหลือของปี

ขณะที่ “ตฤณ สิทธิสวัสดิ์” นักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทวิเคราะห์หุ้นประกันภัยอยู่ 2 บริษัท คือ บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) และ บมจ.ทีคิวเอ็ม อัลฟา (TQM) โดยปกติแล้ว TLI ช่วงไตรมาสแรกจะเป็นไฮซีซั่น เพราะเป็นช่วงที่กรมธรรม์ประกันชีวิตครบกำหนดอายุค่อนข้างมาก จึงมีการโอนกลับสำรองเข้ามามากกว่าไตรมาสอื่น

ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองจะน้อย แต่จะมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2-4 ของปี เมื่อเริ่มมีการขายประกันใหม่ จึงทำให้งบการเงินในไตรมาสแรกจะดีที่สุดของปี และไตรมาส 4 จะแย่สุด

“แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิต อาไม่น่าสนใจมากนัก เพราะผ่านช่วงดีของปีไปแล้ว แต่ด้วยราคาหุ้น TLI ที่ปรับลงมามาก อาจจะมองเป็นลักษณะเทรดดิ้ง รอผลประกอบการฟื้นตัว YOY แต่ QOQ อาจจะไม่เด่น แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากดอกเบี้ยนโยบายที่ใกล้ถึงจุดพีกแล้ว และมองกันว่าปลายปีหรือปีหน้าจะเริ่มปรับลง

ซึ่งจะส่งผลลบกับการตั้งสำรองประกันชีวิตที่มากขึ้น และผลตอบแทนจากตราสารหนี้จะลดลง ส่วน TQM เป็นธุรกิจนายหน้าประกันรถยนต์ ซึ่งช่วงโลว์ซีซั่นเป็นครึ่งปีแรก ดังนั้นแนวโน้มผลประกอบการจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 3-4 ของปี แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากการแข่งขันของสถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และน็อนแบงก์ที่พยายามพ่วงขายประกันกับโปรดักต์สินเชื่อมากขึ้น”

“ตฤณ” กล่าวด้วยว่า ประเมินกำไรปีนี้ของ TLI จะอยู่ที่ 10,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% YOY ตามการเติบโตของเบี้ยประกันและการขายแบบเจอหน้า (face to face) ได้ง่ายขึ้น ส่วน TQM คาดมีกำไร 824 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% YOY โดยเติบโตจากความต้องการทำประกันรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ตามการใช้รถที่กลับสู่ภาวะปกติ

สุดท้ายแล้ว ธุรกิจประกันชีวิต อาจจะไม่ใช่กิจการที่จะหวือหวามากนัก โดยอาจจะเหมาะกับการลงทุนระยะยาว ส่วนธุรกิจประกันภัย ก็คงต้องติดตามข่าวสาร ข้อมูลการลงทุน และพิจารณาความแข็งแกร่งของบริษัทเป็นสำคัญ