เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ จับตาการเจรจาปรับเพดานหนี้สหรัฐ

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ จับตาการเจรจาปรับเพดานหนี้สหรัฐ หลังการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้รอบใหม่ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนและนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ลุ้นถกรอบใหม่

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 22 ถึง 26 พฤษภาคม 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (22/5) ที่ระดับ 34.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/5) ที่ระดับ 34.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์

หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐกล่าวในงานเสวนาว่าด้วยนโยบายการเงินที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในเชิงค่อนข้าง Dovish (Dovish หรือนกพิราบ สื่อถึงนโยบายแบบประนีประนอม ยืดหยุ่น ตรงข้ามกับคำว่า Hawkish หรือนกเหยี่ยว ที่สื่อถึงความแข็งกร้าว ดุดัน)

โดยเขากล่าวว่าสภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวในปัจจุบันส่งผลให้เฟดอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่มากเท่ากับกรณีที่ไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์

กล่าวคือตั้งแต่ช่วงการซื้อขายในวันจันทร์ (22/5) จนถึงวันศุกร์ (26/5) โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 104.312 เป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน ซึ่งเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการปรับมุมมองของนักลงทุนในตลาดที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์แสดงความเห็นล่าสุดว่า

เฟดชี้ยังจำเป็นขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

“เฟดยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะไม่ปรับตัวลง และตราบใดที่ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องมั่นใจว่าปัญหาเงินเฟ้อจะไม่กลับมาเกิดขึ้น และซ้ำรอยช่วงทศวรรษ 1970”

โดยคำกล่าวของนายบูลลาร์ดสอดคล้องกับนายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินเนอาโพลิส โดยกล่าวว่า “เขาเปิดกว้างต่อการที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ นายแคชแครีกล่าวว่า หากเงินเฟ้อยังไม่ชะลอตัวลง เขาจะสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป”

นอกจากความเห็นของประธานเฟดทั้งสองที่ออกไปในแนวทางเดียวกันว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะยังไม่ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติม เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย หลังจากการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้รอบใหม่ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐและนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ (23/5) ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้

และทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าสหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้ โดยมีกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันที่นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐอาจไม่เหลือเงินเพียงพอสำหรับการชำระหนี้

ขณะเดียวกันข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ประกาศออกมาในสัปดาห์นี้ก็ยังคงสะท้อนความแข็งแกร่งของสภาพเศรษฐกิจอยู่ ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ให้แข็งค่าได้ โดยคืนวันอังคาร (23/5) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 4.1% สู่ระดับ 683,000 ยูนิตในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายเดือนซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 665,000 ยูนิต จากระดับ 656,000 ยูนิตในเดือน มี.ค.

ขณะที่เอสแอนด์พี โกลบอลรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.5 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน จากระดับ 53.4 ในเดือน เม.ย. โดยดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

GDP ไตรมาส 1/66 ของสหรัฐ ขยายตัว 1.3%

ในส่วนของคืนวันพฤหัสบดี (25/5) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2566 โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.3% ในไตรมาสดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.1% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 1.1% และกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 4,000 ราย สู่ระดับ 229,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 245,000 ราย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เงินบาทมีทิศทางที่อ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สอดคล้องกับกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดพันธบัตรและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อย่างต่อเนื่อง

โดยข้อมูลตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ (22-26/5) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดพันธบัตรประมาณ 20,923 ล้านบาท และตลาดหุ้นไทยประมาณ 12,188.85 ล้านบาท เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

โดยเฉพาะท่าที ส.ว.จะโหวตให้พรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ยังคงเป็นความเสี่ยงที่ทำให้นักลงทุนซื้อขายด้วยความระมัดระวัง ถึงแม้ว่าจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 7 พรรคการเมือง มีเสียงพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด 313 เสียง

นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการอ่อนค่าของเงินหยวน เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีนได้ประกาศในช่วงวันศุกร์ (19/5) ว่าจะดูแลเสถียรภาพของค่าเงินหยวน ผ่านการสกัดกั้นการเก็งกำไรในค่าเงินเพื่อไม่ให้เกิดการอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.25-34.78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/5) ที่ระดับ 34.69/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เงินยูโรอ่อนค่า ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (22/5) ที่ระดับ 1.0822/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/5) ที่ระดับ 1.0800/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังประธานเฟดสาขาต่าง ๆ แสดงความเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดัน ภายหลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.3 ในเดือน พ.ค. จากระดับ 54.1 ในเดือน เม.ย. แม้ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะขยายตัว แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ต่ำกว่าโพลของสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 53.5 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0707-1.0831 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/5) ที่ระดับ 1.0726/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (22/5) ที่ระดับ 137.66/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/5) ที่ระดับ 138.06/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ในวันจันทร์ (22/5) สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่ายอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อักนสู่ระดับ 3.9% ในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของการใช้จ่ายในภาคเอกชนท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ในวันอังคาร (23/5) Jibun Bank มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ค. ของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นอยู่ที่ 50.8 ถือเป็นการปรับขึ้นเหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว โดยกลุ่มผู้ผลิตในผลสำรวจฉบับนี้บ่งชี้ว่า ภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานจากผลพวงของโรคระบาดซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต เริ่มส่งสัญญาณคลี่คลาย ในส่วนของ PMI ภาคบริการเดือน พ.ค. ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 56.3 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.68-140.23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/5) ที่ระดับ 139.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ