
ธนาคารกรุงเทพ เชื่อมั่นศักยภาพตลาดอาเซียน เนื้อหอมพร้อมเปิดรับเงินลงทุนจากทั่วโลก เชื่อเศรษฐกิจอาเซียนขยายตัว 4.6% ในปีหน้า และก้าวสู่เขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลกในปี 2573 แนะผู้ประกอบการขยายการลงทุนสู่ภูมิภาคมากขึ้น คว้าโอกาสเพื่อต่อยอดธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ด้าน “ธนาคารเพอร์มาตา” เผยยอดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในอินโดนีเซียเพิ่ม 47%
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนว่าจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจนก้าวสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลกภายในปี 2030 จากข้อมูลของ IMF คาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโต 4.2% ในปีนี้และ 4.6% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- พระราชทานอภัยโทษ คดีทักษิณ ที่มาวาระอันเป็นมงคล วโรกาสสำคัญ
ทั้งยังมีศักยภาพที่จะเป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าดึงดูดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกด้วยความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนประชากรกว่า 650 ล้านคนซึ่งมีสัดส่วนของวัยแรงงานค่อนข้างสูง ทั้งอยู่ในทำเลที่ดีเข้าถึงตลาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียได้ง่าย จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะต้องพิจารณาถึงการลงทุนและขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้นเพื่อตอบรับกับโอกาสทางธุรกิจที่สูงขึ้นเช่นกัน
ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “สถาบันการเงินชั้นนำของภูมิภาค” ได้จัดสัมมนาประจำปี AEC Business Forum 2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 5 และนับเป็นครั้งแรกภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยปีนี้จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ASEAN Rising : Capture New Growth”
เพื่อสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยสามารถไขว่คว้าโอกาสที่มีอยู่มากมายทั่วภูมิภาค และมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ จากธุรกิจอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตได้มากขึ้น โดยธนาคารได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนนักธุรกิจชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนตอบรับเข้าร่วมอภิปรายและแสดงวิสัยทัศน์อย่างคับคั่งเช่นเดิม
ทั้งนี้ ธนาคารเชื่อมั่นว่าอาเซียน ยังคงเป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าดึงดูดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานของภูมิภาคทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างประชากรแล้ว เศรษฐกิจอาเซียนเองก็กำลังขยายตัวตามปัจจัยบวกหลายเรื่อง เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีในระดับภูมิภาค โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมที่ถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับอาเซียน
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยความท้าทาย ทั้งสถานการณ์การส่งออกที่ชะลอตัวลง อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนข้อจำกัดภายในของแต่ละประเทศที่ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจด้วย
“เรามองเห็นศักยภาพของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในปี 2566 ขณะเดียวกันเราก็เชื่อมั่นในศักยภาพของลูกค้าผู้ประกอบการไทย ที่จะสามารถออกไปแข่งขันหรือขยายตลาดและธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นในภูมิภาคอาเซียนนี้ได้เช่นกัน ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ ‘สถาบันการเงินชั้นนำของภูมิภาค’ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของอาเซียน ซึ่งพร้อมให้การสนับสนุนลูกค้าอย่างเต็มที่ทั้งในด้านเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุม 9 จาก 10 ประเทศอาเซียน
โดยเฉพาะธุรกิจที่แข็งแกร่งใน 2 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ทั้งอินโดนีเซียที่ดำเนินการผ่านธนาคารเพอร์มาตา (Permata Bank) ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของเรา และประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่หลักของธนาคารกรุงเทพที่ดำเนินธุรกิจอย่างแข็งแกร่งมาเกือบ 80 ปี
ด้วยบริการทางการเงินหลากหลายครบวงจร รวมถึงข้อมูลและความรู้ที่อัพเดตอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ธนาคารจึงตั้งใจจัดงานสัมมนา AEC Business Forum 2023 ครั้งที่ 5 นี้ เพื่อเป็นอีกแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะช่วยเปิดมุมมองของการทำธุรกิจและการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ให้ก้าวออกไปคว้าโอกาสใหม่ ๆ ที่มีอยู่ทั่วภูมิภาค เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว” นายชาติศิริกล่าว
นางเมลิซา รุสลี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพอร์มาตา บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Indonesia Rising” ว่า ประเทศอินโดนีเซียมีเกาะมากกว่า 1.7 หมื่นเกาะ มีประชากรมากกว่า 270 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาค ภายหลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าหมายผลักดันเศรษฐกิจให้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2588 ควบคู่ไปกับการเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2603
รัฐบาลอินโดนีเซียมุ่งสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว ภายใต้ Road map ที่ชัดเจน เช่น การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การเงินสีเขียว (Green Finance) รวมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ อุตสาหกรรมทางทะเล จากการที่อินโดนีเซียมีเกาะเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีการปรับตัวให้เข้ากับซัพพลายเชนของโลก ทำให้ในปี 2565 มีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 47% จากปี 2564
อย่างไรก็ ตามอินโดนีเซียยังมีความท้าทายที่ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนความสำเร็จในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 142 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างเมืองจาการ์ตาและปริมณฑล รวมทั้งไปถึงด้านแรงงาน ด้วยการมุ่งส่งเสริมดิจิทัล AI และดาต้า เป็นต้น
“ธนาคารเพอร์มาตาเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของอินโดนีเซีย และเรามีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำระดับภูมิภาค เพื่อช่วยสนับสนุนนักลงทุนให้พบเจอโอกาสสร้างความสำเร็จทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน” นางเมลิซากล่าว