คอลัมน์ : สัมภาษณ์
เพิ่งได้ฤกษ์แถลงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานเป็นครั้งแรก สำหรับ “ชูฉัตร ประมูลผล” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คนใหม่ ที่เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา
เป้า 3 ปี เบี้ยทะลุ 1 ล้านล้าน
“ชูฉัตร” เปิดเผยว่า ได้วางแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2569 มุ่งเน้น “สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน” โดยมีเป้าหมายผลักดันให้สำนักงาน คปภ.เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้เติบโต มั่นคง และยั่งยืน
ซึ่งมีเป้าหมายหลัก 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.ธุรกิจประกันภัยมีความยืดหยุ่น คำนึงถึงความยั่งยืน ปรับตัวได้ทัน 2.ประชาชนและภาคเอกชน เข้าใจ เข้าถึง และเชื่อมั่นในระบบประกันภัย 3.ธุรกิจประกันภัยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และสะท้อนความเสี่ยงเฉพาะราย
4.ธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ฐานข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม และ 5.การพัฒนาสู่องค์กรยั่งยืนที่คล่องตัว ทันสมัย และมีเป้าหมายร่วมกัน
“เราคาดหวังว่าภายในสิ้นปี 2569 จะผลักดันเบี้ยรับรวมทะลุ 1 ล้านล้านบาทได้ หลังจากธุรกิจประกันภัยฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้แล้ว ขณะที่ประกันสุขภาพมีการขยายตัวสูง และประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยที่อายุยืนจำเป็นต้องมีเงินออม มีความคุ้มครองด้านสุขภาพ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นปีละ 8-9% จะทำให้คนต้องการความคุ้มครองจากประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้น”
ปี’66 ประกันฟื้นไข้โควิด
สำหรับเบี้ยรับรวมปี 2566 ของทั้งอุตสาหกรรม ตัวเลขจริงจะประกาศในเดือน มี.ค.นี้ เบื้องต้นประมาณการว่าจะมีเบี้ยอยู่ที่ 891,621-927,377 ล้านบาท เติบโต 4.6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) คิดเป็นการเติบโตเท่าตัวเมื่อเทียบตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่คาดจะโต 2.3%
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรก ธุรกิจประกันภัยมีกำไรสุทธิ 42,508 ล้านบาท มาจากกำไรธุรกิจประกันชีวิต 28,069 ล้านบาท และกำไรธุรกิจประกันวินาศภัย 14,439 ล้านบาท
“บางบริษัทที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิดและยังรอดกลับมาหายใจได้ในเวลานี้ เริ่มมีกำไรแตะระดับพันล้านบาทได้แล้ว สะท้อนว่าภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้เร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งผ่านการกำกับดูแลและส่งเสริมจาก คปภ.”
ตั้งแต่ในครรภ์ถึงเชิงตะกอน
“ชูฉัตร” กล่าวว่า คปภ.มีแผนผลักดันให้การประกันภัยเป็นกลไกขับเคลื่อนชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม โดยขณะนี้ต้องการจะเพิ่มอัตราการถือครองกรมธรรม์ของคนไทยให้สูงขึ้น ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานศึกษากรมธรรม์แต่ละประเภทให้สามารถคุ้มครองดูแลประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงเชิงตะกอน
ขณะเดียวกันเปิดกว้างให้ภาคธุรกิจประกันภัย ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใหม่ ๆ ภายใต้การจำกัดสัดส่วนการลงทุน และความเข้าใจในความเสี่ยง โดยคาดหวังว่าการลงทุนนั้น ๆ จะต้องได้ทั้งคุณภาพและปริมาณควบคู่กันไปด้วย ซึ่งได้เริ่มเปิดให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งผ่อนคลายความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของการลงทุนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบทวีคูณ
ยกเครื่องกำกับ-เข้มตรวจสอบ
“เลขาธิการ คปภ.” กล่าวอีกว่า จากผลกระทบของบริษัทประกันวินาศภัย 4 ราย ถูกปิดตัวจากจ่ายค่าสินไหมประกันภัยโควิด ได้มีการถอดบทเรียน (Lesson Learned) ให้กับทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมประกันภัย
โดย คปภ.จะยกเครื่องการกำกับดูแลความเสี่ยงและการตรวจสอบบริษัทประกันภัย มุ่งสร้างความแข็งแกร่ง มั่นคง และความน่าเชื่อถือ ให้กับระบบเพื่อตอกย้ำความมั่นใจ และสร้างศรัทธาให้กับประชาชน โดยเน้นการแก้ไข สกัดกั้นผลกระทบ ป้องปรามการกระทำผิด และลงโทษตามกฎมายอย่างเด็ดขาด
“เราจะพยายามทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ที่มีความเข้มข้นขึ้น เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ให้มีความแม่นยำมากขึ้น และจะปรับปรุงระบบ Early Warning System
โดยเพิ่มเติมระบบ Early Alert Indicator เพื่อให้เห็นเหตุการณ์ได้เร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งข้อมูลวิเคราะห์ฐานะการเงินบริษัทประกันให้กับ คปภ. อาจไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้สอบบัญชีรับรอง เพื่อนำมาเพ่งเล็งในบางประเด็นได้ก่อน หากเห็นความผิดปกติก็จะสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้เร็ว”
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา คปภ.ได้ดำเนินการให้ทุกบริษัทประกันภัย ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมทางด้านการเงินและการปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้ คปภ.เชื่อว่ากรมธรรม์ที่จะออกขายได้จัดเตรียมแผนรองรับไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทุนการขาย การเคลม และการตั้งสำรองให้เพียงพอ
หรือแม้กระทั่งหากมีเรื่องร้องเรียนใด ๆ สามารถระงับเรื่องได้ ซึ่งตอนนี้ได้พยายามสุ่มตัวอย่างเพื่อดูความเข้มแข็งของการทำงานของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัยอยู่
“สมัยก่อนเราจะมองการทำงานของซีอีโอเป็นหลัก แต่นับจากนี้เราจะมองคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะที่การอนุมัติจ่ายเงินปันผล ก็จะต้องขออนุมัติจาก คปภ.”
แก้ปัญหา “สินมั่นคงฯ” ไม่ง่าย
ในส่วนการแก้ปัญหาบริษัทสินมั่นคงประกันภัย “เลขาธิการ คปภ.” กล่าวว่า ตอนนี้ยังมีความเสี่ยงทางข้อกฎหมายอยู่มากพอสมควร เบื้องต้น คปภ.สั่งหยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในสภาพที่ ไม่สามารถรับประกันภัยได้อีกต่อไปแล้ว จึงเข้าไปกำกับเพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 59 (มาตรการสูงสุด) หรือเพิกถอนใบอนุญาต ดังนั้นระยะนี้สินมั่นคงฯ ยังมีโอกาสที่จะแก้ตัว หาทางเพิ่มทุนทำให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด
“ตอนนี้มีหนี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท จาก 4 บริษัทปิดกิจการ ที่ถูกโอนไปไว้ที่กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เพื่อดำเนินการจ่ายให้กับเจ้าหนี้เกือบ 6 แสนราย ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 60 ปี กว่าจะจ่ายหมด ยังไม่รวมหนี้ของบริษัทสินมั่นคงฯอีกราว 3 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ได้มีการเชิญ คปภ.เข้าไปรับฟังปัญหาและพูดคุยถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายช่วยกันเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้”
“เลขาธิการ คปภ.” กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กองทุนประกันวินาศภัยก็กำลังหาแนวทางในการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้เช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านั้น กระทรวงการคลังมีแนวคิดว่าจะออก Junk Bond เพื่อแก้ปัญหาให้กับกองทุน และจากการประเมินความต้องการลงทุนในพันธบัตรดังกล่าวของธุรกิจประกันภัย น่าจะมีราว 12,000 ล้านบาท
- ครม.ไฟเขียว “ชูฉัตร ประมูลผล” นั่งเก้าอี้เลขาธิการ คปภ.
- เศรษฐา ลงนามคำสั่ง ก.คลัง แต่งตั้ง “ชูฉัตร ประมูลผล” เลขาฯ คปภ. คนที่ 4
- เปิดประวัติ “ชูฉัตร ประมูลผล” คนในคนแรก ก้าวขึ้นสู่เลขาฯ คปภ.คนใหม่
- เลขาฯ คปภ. ชี้ธุรกิจประกันฟื้นตัวแล้ว 4 ปีจากนี้ ต้องมั่นคง-เติบโตยั่งยืน
- เลขาฯ คปภ.ชี้แก้ปัญหา “สินมั่นคงฯ” ไม่ง่าย เหตุมีความเสี่ยงข้อกฎหมาย