เปิดประวัติ “ชูฉัตร ประมูลผล” ลูกหม้อกรมการประกันภัย คนในคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “เลขาฯ คปภ.คนใหม่” กับโจทย์แรกที่ท้าทาย “คดีสินมั่นคงประกันภัย”
วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ตามที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายชูฉัตร ประมูลผล ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นการดำรงตำแหน่งต่อจาก ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ ที่ทำงานครบ 2 วาระ (8 ปี) นับตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2566 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ นายชูฉัตร ประมูลผล ถือเป็นลูกหม้อกรมการประกันภัย (ก่อนเป็นสำนักงาน คปภ.) คนแรกที่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ได้ แม้ก่อนหน้านี้ คุณจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมการประกันภัย จะขึ้นเป็นเลขาธิการ คปภ. คนแรก หลังจากการยกฐานะกรมการประกันภัย เป็นสำนักงาน คปภ. แต่คุณจันทราก็ไม่ได้ถือว่าเป็นลูกหม้อกรมการประกันภัยจริง ๆ เพราะเป็นการเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีตามระบบราชการเท่านั้น
โดยนายชูฉัตร ประมูลผล เป็นลูกของอาจารย์ชูเกียรติ ประมูลผล ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของกรมการประกันภัย โดยนายชูฉัตร ประมูลผล เข้ามาทำงานที่กรมการประกันภัยตั้งแต่ยังไม่ยกฐานะเป็นสำนักงาน คปภ. ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “เป็นรองเลขาธิการ คปภ. ด้านการกำกับ”
สำหรับประวัติของเลขาธิการ คปภ. คนใหม่ พบว่านายชูฉัตร ประมูลผล เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2508 จบปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโท จาก MBA Angelo State University ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประวัติการทำงาน
- ปี 2559-2562 รองเลขาธิการด้านตรวจสอบสำนักงาน คปภ.
- ปี 2553-2559 ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบริหาร สำนักงาน คปภ.
- ปี 2550-2553 ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักเลขาธิการ สำนักงาน คปภ.
- ปี 2541-2550 นักวิชาการประกันภัย 8ว สำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ (ข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2546)
- ปี 2539-2541 นักวิชาการประกันภัย 6 กองประกันวินาศภัย กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์
- ปี 2537-2539 นักวิชาการประกันภัย 5 กองประกันวินาศภัย กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์
ประวัติการฝึกอบรม
- หลักสูตรวิทยาการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 58
- หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 31
- หลักสูตรการพัฒนานักบริหารระดับสูง (นบส.) รุ่นที่ 80 (งานวิจัยบุคคลดีเด่นและงานวิจัยกลุ่มดีเด่น)
- หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 9
- หลักสูตร Director Certification Programm (DCP)
- หลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.) รุ่นที่ 6
- หลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง ( Super วปส.) รุ่นที่ 2
- หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 5
ประสบการณ์
- ได้รับมอบหมายให้ร่วมทีมเจรจาปัญหาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา เรื่องข้อพิพาททรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทำให้ประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกาจัดอยู่ในลำดับประเทศต้องถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด (Parientity Foreign Country) หากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ต่อไปสหรัฐจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้าและศุลกากร (GSP) จนทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกจัดอันดับสูงในครั้งนั้น
- ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงพาณิชย์ ให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา
- ได้รับคัดเลือกจากกรมการประกันภัยให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและชี้แจงงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรมการประกันภัยต่อผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์
- ได้ร่วมทีมปรับปรุงพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถภาคสมัครใจในปี 2542 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้ขับขี่ และยี่ห้อ/รุ่น/อายุรถ มาใช้ในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัย
- เป็นผู้ผลักดันการปรับความคุ้มครองที่ประชาชนจะได้รับตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถครั้งสำคัญจาก 80,000 บาท เป็น 100,000 บาท
ทั้งนี้งานแรกที่คุณชูฉัตร ประมูล ต้องดำเนินการคือ คดีของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK) หลังจากเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ประชุมเจ้าหนี้ทั้ง 18 กลุ่ม พิจารณาไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทสินมั่นคงประกันภัยในสัดส่วน 52.72% ขณะที่มีผู้ยอมรับแผน 47.28%
ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ ศาลล้มะลายกลางได้มีการกำหนดวันพิจารณาคือวันที่ 1 พ.ย. 2566 เพื่อพิพากษา ซึ่งตามกระบวนการทางกฎหมายเมื่อ “ไม่ผ่านแผน” ศาลฯจะมีคำสั่งยุติการฟื้นฟูกิจการ โดยยกเลิกการให้ฟื้นฟูกิจการ ทำให้ทุกอย่างจะกลับกระบวนการเหมือนกรณีไม่เคยเกิดการฟื้นฟูกิจการมาก่อน
สิทธิทุกอย่างจะหวนกลับคืนมาเหมือนเดิมทั้งหมด เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ และอำนาจทั้งหมดจะกลับมาอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ดังนั้นต้องจับตา เลขาธิการ คปภ. คนใหม่ จะเทกแอ็กชั่นเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร