ธปท.เผยสินเชื่อระบบแบงก์ไตรมาส 3/67 หดตัว -2.0% ในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี’53 เหตุสินเชื่อธุรกิจภาครัฐชำระคืนหนี้ 8.4 หมื่นล้านบาท สินเชื่อรายย่อยหดตัว -1.0% ชี้รถยนต์หนักสุด -7.6% ด้านหนี้เสียขยับเพิ่มขึ้นแตะ 5.53 แสนล้านบาท อยู่ที่ 2.97% ห่วงกลุ่มเปราะบางรายได้ต่ำ 3 หมื่นบาท บ้านราคาต่ำ 3 ล้านบาท ด้านผลประกอบการธนาคารปรับดีขึ้น สำรองหนี้เพิ่มแต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน NIM ปรับลดลง
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2567 ยังคงมีเสถียรภาพ แต่ยังคงต้องติดตามการปล่อยสินเชื่อ และความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM หรือ Stage 2) ขยับเพิ่มขึ้น
โดยในส่วนของสินเชื่อในไตรมาส 3/67 พบว่า สินเชื่อหดตัว -2% ในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งมาจากการชำระหนี้ และธุรกิจมีการออกหุ้นกู้ รวมถึงสินเชื่อรายย่อยชะลอตัว โดยหากหักการชำระหนี้คืนภาครัฐจะอยู่ที่ราว 8.4 หมื่นล้านบาท สินเชื่อจะเหลือหดตัว -1.5% และสินเชื่อธุรกิจ -2.6% แต่หากหักการชำระหนี้คืนจะเหลือ -1.8% โดยจะเห็นว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวเล็กน้อยอยู่ที่ 0.2% ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีหดตัว -5.5% ในทุกหมวด
และสินเชื่อรายย่อยหดตัว -1.0% โดยสินเชื่อรถยนต์จะหดตัว -7.6% ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็น 3 ไตรมาส เป็นผลมาจากการขายขาดทุนรถยึด และราคารถที่ถูกลง ส่งผลให้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว -2.4% เป็นการหดตัวไตรมาส 2 ติดต่อกัน ส่วนหนึ่งมาจากการชำระหนี้คืน แต่การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Spending) ปรับตัวดีขึ้น ส่วนสินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวในส่วนของสินเชื่อจำนำทะเบียน
“แนวโน้มสินเชื่อเห็นว่าหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี’53 ซึ่งในรอบนี้ก็มีลักษณะคล้ายกัน โดย ธปท.ได้ดูพอร์ตสินเชื่อแบงก์ที่มีสาขาในต่างประเทศ พบว่า สินเชื่อปรับลดลงตามปัญหากีดกันทางการค้า ในกลุ่มสินเชื่อที่มีต้นทุนสู้ไม่ได้ และปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าสินเชื่อจะขยายตัวดีขึ้นจากตัวเลขเดือนตุลาคมที่มีการขยายตัว”
สำหรับภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาส 3/67 ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย โดยอยู่ที่ 5.53 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.97% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มจากไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 2.84% โดยเอ็นพีแอลของสินเชื่อธุรกิจขยับเพิ่มขึ้นจาก 2.70% มาอยู่ 2.84% และเชื่ออุปโภคบริโภคในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 3.24% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.13% ในไตรมาส 2/67 โดยปรับทุกพอร์ตสินเชื่อ ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้าหรือในไตรมาส 4/67 คาดว่าหนี้เอ็นพีแอลจะยังคงขยับเพิ่มขึ้น
“หลังผ่านโควิด-19 เศรษฐกิจฟื้นตัวเป็น K Shape ซึ่งมีทั้งคนที่ฟื้นตัวและไม่ฟื้นตัว ซึ่งเจอปัญหาหลุมรายได้ ภูเขาหนี้ โดยจะเห็นว่าในช่วงโควิด-19 หนี้ครัวเรือนเราเพิ่มขึ้นมา 10% ซึ่งทำให้คนกู้ยืมหนี้มากขึ้น และไม่มีรายได้มาชำระหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เรายังให้ความเป็นห่วงอยู่”
ขณะที่สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM หรือ Stage 2) ขยับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 6.50% มาอยู่ที่ 6.86% ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 1.27 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อธุรกิจขยับเพิ่มขึ้นจาก 5.98% เป็น 6.39% เป็นผลมาจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพหนี้ของเจ้าหนี้ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยับเพิ่มขึ้น 7.60% เป็น 7.81% อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าตัวเลข SM ของรถยนต์ชะลอลง แต่เป็นผลมาจากสินเชื่อที่หดตัว
นางสาวสุวรรณีกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ที่ 20.5% มาจากการจัดสรรกำไรในไตรมาส 2/67 เพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้เสีย (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 170.3% ปรับลดลงจากไตรมาส 2/67 ที่อยู่ที่ 172.4% ตามทิศทางหนี้เสียที่ยังเพิ่มขึ้น แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง (NIM) อยู่ที่ 30.4% และ ROA และ ROE ปรับลดลง โดยหลักจากการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล แม้ค่าใช้จ่ายสำรองปรับลดลง