UOB จับมือพันธมิตรผุดแอปขอสินเชื่อออนไลน์หนุนธุรกิจ SME ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 6% เอ็นพีแอลต่ำ 5%

ธนาคารยูโอบีจับมือบิซิเนสออนไลน์ ผุดแมทช์ลิงค์(MatchLink)” แอปขอสินเชื่อออนไลน์หนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ให้วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 14.5% ตั้งเป้าปีแรกยอดปล่อยสินเชื่อผ่านแอปนี้ราว 300 ล้านบาท ด้าน “สยุมรัตน์” ประเมินยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ 20,000 ล้านบาทโต6% แอลพีแอลต่ำกว่า 5% ระวังปล่อยกู้ธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มเกี่ยวเนื่องการส่งออก หวั่นได้รับผลกระทบสงครามการค้า

นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (UOB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง “บิซิเนส ออนไลน์” หรือบีโอแอล (BOL) ผู้นำด้านโซลูชั่นในการเปิดให้บริการใหม่ “การขอสินเชื่อเอสเอ็มอี ผ่านแมทช์ลิงค์(MatchLink)” บนแอปพลิเคชั่นที่จับคู่ทางธุรกิจ ที่ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เนื่องจากหากดูจากลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่จดทะเบียนทางการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ราว 7 แสนคน พบว่ามีบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มลงทะเบียนไม่ถึง 3 ปี ทำให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เข้าถึงสินเชื่อยาก หากเทียบกับลูกค้าเอสเอ็มอีรายเก่าๆ ที่มีวงเงินสินเชื่อแบงก์อยู่แล้ว

ดังนั้นเชื่อว่าแอปพลิเคชั่นนี้จะเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าเอสเอ็มอีในทุกกลุ่มได้ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อีกทั้งสินเชื่อบนแอปพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน โดยให้วงเงินสูงสุดถึง 5 ล้านบาท และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 14.5% หากเทียบกับดอกเบี้ยของสินเชื่อธุรกิจทั่วไปที่อยู่ราว 18% เพราะฉะนั้นเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางมากขึ้น

โดยการเปิดให้บริการแอปพลิเคชั่นดังกล่าว ได้เปิดให้บริการไปแล้ว 2 สัปดาห์ มีผู้ประกออบการธุรกิจเข้ามาขอสินเชื่อผ่านออนไลน์แล้ว 200 กว่าราย ซึ่งผ่านการพิจารณาบนแอปพลิเคชั่นนี้แล้วราว 60% และสัดส่วนราว 15% ได้ส่งต่อให้แบงก์อนุมัติสินเชื่อต่อไป ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะมียอดปล่อยสินเชื่อผ่านแอปนี้ราว 300 ล้านบาท ลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 100 ราย

ส่วนภาพรวมการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสแรกปีนี้ นางสยุมรัตน์กล่าวว่า แม้ภาพเศรษฐกิจจะมีความผันผวนแต่การปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีทำได้ดี โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตกว่า 2.8% หรือคิดเป็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ราว 5,000 ล้านบาท ที่ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อย ที่มียอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาท ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางมียอดเกิน 1,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อรวมปีนี้ ธนาคารคาดว่าสินเชื่อรวมน่าจะโตราว 2 เท่าของจีดีพีหรือราว 6% คิดเป็นยอดสินเชื่อใหม่ราว 20,000 ล้านบาท

ขณะที่หากดูพอร์ตสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดย่อยและเอสเอ็มอีขนาดกลาง พบว่าปัจจุบันมีพอร์คคงค้างอยู่ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท ด้านคุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) พบว่าคุณภาพหนี้ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ระดับ 5% ซึ่งปรับลดลง หากเทียบกับช่วงสิ้นปีก่อนที่อยู่ราว 6% และคาดว่าปีนี้น่าจะเห็นเอ็นพีแอลต่ำกว่าระดับ 5% ได้

“แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัว เราก็คงไม่ฝืน ก็ต้องระมัดระวัง ซึ่งเราจะปล่อยตามความจำเป็นของลูกค้า และเราไม่อยากให้มีการใช้เงินเกินจำเป็นของธุรกิจ ซึ่งอาจย้อนกลับมาส่งผลลบต่อธุรกิจโดยรวมได้ ที่ผ่านมาเราก็ทำเหมือนแบงก์อื่นที่มีการตั้งทีมในการช่วยเหลือลูกค้า หรือรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือการมีเครื่องมือที่คอยส่งสัญญาณเตือนว่ากลุ่มไหนมีความเสี่ยง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทุกแบงก์มีหมด เราคงไม่รอให้เกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงขึ้นมาก่อน แล้วค่อยแก้ไขแต่เราต้องเข้าไปแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะเกิด รวมถึงการที่เรามีเครดิตสกอริ่งที่จะช่วยให้เราวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ ได้ ทำให้คุณภาพหนี้เสียหรือหนี้ปรับโครงสร้างที่ย้อนกลับมาเป็นเอ็นพีแอลน้อยลง”นางสยุมรัตน์กล่าว


ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าได้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบได้ ดังนั้นกลุ่มนี้ก็อาจเป็นกลุ่มที่แบงก์ต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ