คลังชะลอเก็บ VAT นำเข้าผ่านไปรษณีย์

คลังส่อพับแผนเก็บ VAT สินค้านำเข้าผ่านไปรษณีย์ราคาไม่เกิน 1,500 บาท เหตุปฏิบัติยุ่งยาก-แยกแยะลำบากนำเข้าเพื่อใช้ส่วนตัว/เพื่อการค้าอีคอมเมิร์ซ แถมอาจไม่คุ้มค่าจัดเก็บ เหตุได้เม็ดเงินภาษีแค่หลักร้อยล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากสินค้านำเข้าผ่านไปรษณีย์ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท จากเดิมที่ยกเว้นภาษี VAT ให้ เนื่องจากถือว่าเป็นการนำเข้าเพื่อใช้ส่วนตัว แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ช่องทางดังกล่าวนำเข้าสินค้าเพื่อการค้าเชิงพาณิชย์ (อีคอมเมิร์ซ) มากขึ้น

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมสรรพากร กรมศุลกากร รวมถึงกรมสรรพสามิต แล้วพบว่า การปฏิบัติค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากหากจะจัดเก็บในทุกกรณีก็จะกระทบกับผู้ที่นำเข้ามาเพื่อใช้ส่วนตัวจริง ๆ หรือหากจะเก็บเฉพาะกรณีนำเข้ามาเพื่อการค้าก็มีความยุ่งยากในการจำแนก และอาจจะไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินภาษีที่จะได้เพิ่มแค่หลักร้อยล้านบาทเท่านั้น

“ที่ผ่านมามีแนวคิดว่าต้องเก็บ VAT ตั้งแต่ราคาสินค้าบาทแรก เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ แต่หลังหารือร่วมกันยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก ซึ่งก็คงไม่ทันเสนอในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยมูลค่า VAT หากมีการจัดเก็บ มีแค่หลักร้อยล้านบาท อาจจะไม่คุ้มค่า ทั้งนี้ อาจต้องรอให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าในลักษณะอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ก่อน ถึงค่อยว่ากันอีกที” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวทาง สศค. และกรมสรรพากร อยู่ระหว่างการศึกษา ส่วนกรมศุลกากรเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ คือ หากได้ข้อสรุปว่าจะเก็บ VAT กรมก็จะทำหน้าที่จัดเก็บ VAT ให้แทนกรมสรรพากรเท่านั้น ซึ่งในส่วนของอากรขาเข้านั้นมีการยกเว้นให้กับสินค้าที่นำเข้าผ่านไปรษณีย์ ราคาไม่เกิน 1,500 บาทอยู่แล้ว

“สินค้าที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาท กรมศุลฯยกเว้นอากรให้อยู่แล้ว แต่เรื่อง VAT ต้องขึ้นกับผลศึกษาของ สศค. กับกรมสรรพากร เราจะเป็นผู้ปฏิบัติ คือถ้าเขาเก็บ เราก็จะจัดเก็บให้” นายกฤษฎากล่าว

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมได้ร่วมกับทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีจากการซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ โดยจัดส่งผ่านทางไปรษณีย์มาจากต่างประเทศ โดยที่ทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จะลงทุนซื้อเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดซื้อ เพื่อติดตั้งที่ไปรษณีย์หลักสี่ 1 เครื่อง ไปรษณีย์หัวลำโพง 1 เครื่อง และอีก 1 เครื่อง ติดตั้งที่ศูนย์ไปรษณีย์ EMS รวมถึงจะเพิ่มพื้นที่ปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้มากขึ้นด้วย เพื่อรองรับการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าผ่านไปรษณีย์ราว 5-6 ล้านชิ้นต่อปี และผ่านช่องทาง Express อีกปีละกว่า 10 ล้านชิ้น

“ในกรณีสินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ผ่านไปรษณีย์ ทางกรมศุลกากรจะมีการเอกซเรย์ 100% ไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนสินค้าที่ราคาเกิน 1,500 บาท ที่ต้องเสียภาษี เราจะเปิดตรวจอยู่แล้ว” นายกฤษฎากล่าว

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ในการประชุมองค์การศุลกากรโลก (WCO) ได้มีการหารือถึงปัญหาเกี่ยวกับการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซผ่านไปรษณีย์ ซึ่งทุกประเทศต้องเจอกับการสำแดงราคาต่ำเหมือนกัน รวมถึงปัญหาที่ไม่สามารถจำแนกได้ว่า ผู้ที่ส่งออกสินค้ามาจากต่างประเทศเป็นผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงมากหรือน้อย นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บภาษี เพราะแต่ละประเทศจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซไม่เหมือนกัน

“หลายประเทศเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซจากผู้รับปลายทาง แต่ลองคิดดูว่าปีหนึ่งมีมากกว่า 10 ล้านชิ้น กรมศุลกากรจะไปไล่เก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน ก็มีแนวคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเก็บจากคนกลาง หรือผู้ที่ทำหน้าที่กระจายสินค้า รวมถึงยังดูความเป็นไปได้ในกรณีเก็บจากต้นทาง และมีแนวคิดว่า WCO น่าจะต้องร่วมมือกับองค์การไปรษณีย์สากลระหว่างประเทศ เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน” นายชัยยุทธกล่าว