ความเป็นไปได้การฟื้นตัวระยะสั้น ของเศรษฐกิจและตลาด

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก

โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นมา ภาคเศรษฐกิจจริง ผู้ผลิตทั่วโลกต่างกังวลกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา สะท้อนออกมาด้วยการลดคำสั่งซื้อวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลางทั่วโลก ดังจะเห็นจากการปรับลงของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) หักหัวดิ่งทิ้งลงแทบจะ 90 องศา ตั้งแต่ พ.ค.ปีนี้จนถึงปัจจุบัน

การที่ภาคการผลิตทำแบบนี้ได้ในปัจจุบันต่างจากสมัยก่อนที่จะต้องใช้เวลา 12-24 เดือนในการปรับการผลิต เพราะโลกาภิวัตน์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิต ระบบการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทานการผลิต (global supply chain) ทำให้ภาคการผลิตสามารถวางแผนรับมือการผลิตสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดได้ทันที

ความก้าวหน้าแบบนี้มีทั้งด้านบวกและลบ กล่าวคือ ในภาพย่อยการปรับการผลิตเพื่อตอบสนองต่อตลาดและภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้นเป็นผลดีต่อองค์กรธุรกิจนั้น ๆ ในการปรับตัวให้ยืดหยุ่นเข้ากับภาวะเศรษฐกิจและตลาดที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และทำให้องค์กรธุรกิจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี แต่ในภาพใหญ่ ถ้าองค์กรธุรกิจต่าง ๆ มองโลกแง่ร้าย แม้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้าย แต่ในเมื่อองค์กรธุรกิจเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดมีความไม่แน่นอนสูงและพากันชะลอการสั่งวัตถุดิบการผลิต ผลคือเศรษฐกิจจะซบเซาตามการคาดการณ์นั้น ๆ (self-fulfilling prophecies) แม้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจ ณ ขณะทำการตัดสินใจ ไม่ได้เลวร้ายก็ตาม

นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน หลังประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มสงครามการค้า องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ตระหนักถึงความไม่แน่นอนและปรับลดกำลังการผลิตส่วนใหญ่แทบจะพร้อม ๆ กันใน พ.ค.ปีนี้เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจและตลาดมีความสำคัญเฉพาะหน้าทันทีทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน ต่างจากสมัยก่อนที่เวลาเกิดอะไรขึ้น ภาคการเงินจะรับรู้ก่อนและใช้เวลา 6-12 เดือนในการส่งต่อผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริง แต่ในปัจจุบันทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินต่างรับรู้ข่าวสารและข้อมูลเศรษฐกิจและตัดสินใจได้ในความรวดเร็วแตกต่างกันไม่มาก เช่น เมื่อเกิดความไม่แน่นอน ภาคการเงิน นักลงทุนอาจจะลดความเสี่ยงด้วยการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทันที ขณะที่องค์กรธุรกิจจะยกเลิกหรือปรับคำสั่งซื้อวัตถุดิบในทันทีทันใดเช่นเดียวกัน

กลับมาที่ปัจจุบัน ขณะนี้ผมเริ่มเห็นข้อมูลบางอย่าง อาจจะไม่ใช่ตัวแทนข้อมูลทั้งหมดที่บ่งชี้ถึงภาพรวม แต่น่าสนใจในการใคร่ครวญและคิดต่อในเชิงการลงทุน กล่าวคือ หลังจากที่ผู้ผลิตปรับลดกำลังการผลิตลงแทบจะพร้อม ๆ กันทั้งโลก ตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นมา ผลปรากฏว่ายอดขายสินค้าและบริการในหลายประเทศไม่ได้ปรับลดลงมากนัก

ดังนั้น ขณะนี้ผมจึงเริ่มเห็นภาพบางส่วนของสินค้าคงคลังเริ่มจะลดลงไป ซึ่งนี่อาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นตัวแทนภาพสินค้าคงคลังได้ทั้งโลก แต่ความน่าคิดต่ออยู่ตรงที่ว่า ถ้าสินค้าคงคลังขณะนี้ลดลงมากโดยที่องค์กรธุรกิจเองไม่ได้ทำการผลิตมาเติมใหม่ เพราะความกลัวเรื่องสงครามการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างแรงในอนาคต แต่เมื่อตอนนี้ สหรัฐกับจีนจะลงนามทำความตกลงกันได้บางส่วน ดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกอยู่ในทิศทางขาลง สต๊อกสินค้าคงคลังลดลงไปมาก เพราะไม่ได้ทำการผลิตเต็มรูปแบบตั้งแต่ พ.ค.เป็นต้นมา ขณะที่การจำหน่ายสินค้าและบริการปริมาณใหญ่ ๆ ของทั้งโลกจะเริ่มต้นในวันคนโสดจีน (11 เดือน11) วันขอบคุณพระเจ้า วันคริสต์มาส และตรุษจีนปีหน้า องค์กรธุรกิจต่าง ๆ อาจจะต้องเริ่มมาสั่งวัตถุดิบและเดินเครื่องจักรการผลิตกันใหม่ เพื่อทดแทนสต๊อกสินค้าที่ลดลงไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามนี้ เราอาจจะเห็นการฟื้นตัวของดัชนี PMI ของทั่วโลกพร้อม ๆ กันตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป และถ้าเกิดขึ้น จะเป็นการช่วยให้ภาพพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว จิตวิทยาการลงทุนเริ่มดีขึ้น และอาจจะเป็นแรงหนุนตลาดหุ้นในไตรมาส 4 และไตรมาสแรกปีหน้ายังไปได้จากผลบวกของปัจจัยพื้นฐานดังกล่าว ซึ่งสมมติฐานนี้จะถูกหรือผิด เราสามารถดูข้อมูล PMI รายเดือนประกอบ ถ้า PMI รายเดือนฟื้นตัวแบบตัว V นั่นหมายความว่า ภาคการผลิตกลับมาเดินการผลิต ระยะสั้นเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ตลาดหุ้นยังคงปรับตัวเพิ่มได้ตามพื้นฐานเศรษฐกิจ (ระยะสั้น) ที่ออกมาดีมาก


สมมติว่าทุกอย่างเป็นไปตามนี้ ผมอยากย้ำกับผู้อ่านว่า เรายังอยู่ในปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ และครั้งนี้วัฏจักรเศรษฐกิจ (อิงจากข้อมูลวัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐ) ยาวนานมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลเป็นต้นมา แม้ว่าสัญญาณอันตรายแบบ fire alarm หรือสัญญาณเตือนไฟไหม้ ซึ่งอาจจะเทียบได้กับการเทขายสินทรัพย์ทุกอย่างและไปถือเงินสด (fire sale) จะยังไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้ถือว่าเราได้สัญญาณเตือนแบบ alarm clock หรือนาฬิกาปลุก บอกให้เราเตรียมทำอะไรที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น inverted yield curve ที่เคยเกือบจะเกิดขึ้น และการที่อายุวัฏจักรเศรษฐกิจโลกยาวนานกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตมาก บ่งบอกถึงการอยู่ในปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งสัญญาณนาฬิการ้องเตือนนี้ในการลงทุน คือ ใช้โอกาสที่ตลาดจะฟื้นตัว ทำการกระจายสินทรัพย์เพื่อการลงทุน เพื่อรับมือความเสี่ยงระยะกลางและระยะยาวข้างหน้า หลังปัจจัยบวกระยะสั้นหมดอายุลง