“ลดใช้ถุงพลาสติก” ทุบ 500 ผู้ผลิตอ่วมดัน “หนี้เสีย” พุ่ง

เอฟเฟ็กต์มาตรการ “ลดใช้ถุง” กระทบหนี้เสียกลุ่มผู้ผลิต “พลาสติก-หลอด” พุ่ง ชี้อุตสาหกรรม “ซันเซต” แบงก์ขึ้นบัญชีจับตาเป็นพิเศษ ยอมรับโอกาสปล่อยกู้ใหม่ยาก “กสิกรไทย” ยันกระทบทั้งอุตสาหกรรมหนุนผู้ประกอบการปรับตัวหนีตาย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินถึงปีนี้ เอ็นพีแอลมีโอกาสแตะ 10%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2563 นี้ กลุ่มผู้ผลิตพลาสติกชนิดอ่อน (ถุงพลาสติก, หลอด) ถือเป็น

กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการลดใช้ถุงพลาสติก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ทำให้แบงก์จะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กลุ่มนี้ยากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)เพิ่มขึ้นในปีนี้

ทั้งนี้ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทยที่จดทะเบียนนิติบุคคล มีจำนวน 1,373 ราย คิดเป็น 77% และไม่ใช่นิติบุคคลอีก 401 ราย คิดเป็น 23% โดยมีปริมาณการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกลดลงต่อเนื่อง และปี 2562 ปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ราว 1 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 1.8 แสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น รายได้จากถุงพลาสติก-หลอด 6.45 หมื่นล้านบาท และพลาสติกประเภทอื่น ๆ 1.2 แสนล้านบาท

หนี้เสียพุ่ง-สินเชื่อติดลบ

นายนริศกล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ผลิตถุงพลาสติก-หลอด มีอยู่ประมาณ 500 รายแบ่งเป็นรายใหญ่ 14 ราย มีส่วนแบ่งตลาดในแง่ยอดขายประมาณ 51% รายกลาง 86 ราย ส่วนแบ่งตลาด 36% และรายเล็ก 393 ราย ส่วนแบ่งตลาด 12% ซึ่งเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีจำนวนผู้ประกอบการ 387 ราย ยอดสินเชื่อสำหรับกลุ่มนี้ ณ ไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 5.06 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น รายใหญ่ 1.76 หมื่นล้านบาท รายกลาง 1.99 หมื่นล้านบาท และรายเล็ก 1.29 หมื่นล้านบาท

โดยจากข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 กลุ่มผู้ผลิตถุงพลาสติก-หลอด มีเอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 6.9% ซึ่งพบว่าทุกกลุ่มได้รับผลกระทบหมด แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีโอกาสปรับตัวง่ายกว่า ตัวเลขหนี้เสียอยู่ที่ 3.5% ขณะที่รายกลางหนี้เสียอยู่ที่ระดับ 6.3% และรายเล็กอยู่ที่ 8.8% และคาดว่าในปีนี้น่าจะเห็นเอ็นพีแอลขึ้นไปแตะระดับ 10% ขณะที่สินเชื่อก็มีโอกาสติดลบ” นายนริศกล่าว

อุตสาหกรรม “ซันเซต” กู่ไม่กลับ

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารกสิกรไทยมีทีมที่ดูทิศทางของอุตสาหกรรม ก็เห็นสัญญาณผลกระทบกลุ่มผู้ผลิตพลาสติกและที่เกี่ยวข้องมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตพลาสติกมีความเสี่ยงสูงขึ้นในทุกขนาดธุรกิจ โดยเฉพาะผลกระทบจากเลิกซื้อถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งของกลุ่มห้างสรรพสินค้า และแนวโน้มอุตสาหกรรมไม่น่าจะฟื้นกลับมาได้ ดังนั้นหากแบงก์จะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ธุรกิจกลุ่มนี้ก็ต้องคัดเลือกลูกค้าที่มีความแข็งแรงและมั่นคงระดับหนึ่ง

สำหรับกสิกรไทย ปัจจุบันมีพอร์ตลูกค้าที่เกี่ยวเนื่องกับพลาสติกอยู่ประมาณ 100 ราย ซึ่งยังไม่พบสัญญาณผลกระทบรุนแรง แต่ยอมรับว่ายอดขายของลูกค้าหายไปบ้าง จากการรณรงค์การใช้ถุงพลาสติก

“ในมุมธนาคารมองว่าอุตสาหกรรมนี้เทรนด์ไม่น่าจะกลับมา เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่โดนดิสรัปชั่น ลูกค้ารายใหญ่ก็น่าจะกระทบเยอะ เพราะห้างสรรพสินค้าลดหรือหยุดซื้อ ส่วนรายเล็กรายกลางก็ยอดขายลดลง แต่ข้อดีของรายใหญ่ คือ ทุนหนา และปรับตัวได้เร็วกว่ารายเล็ก อย่างไรก็ดี ธนาคารก็หาทางช่วยเหลือลูกค้าในเบื้องต้น ตามเครื่องมือที่มี ทั้งยืดหนี้ ลดต้น ลดดอกเบี้ย ปรับการชำระให้สอดคล้องกับยอดขาย และดูวิธีการปรับตัวของลูกค้าไปก่อน หากปรับตัวได้ ผันตัวไปส่งออกแทน หรือผลิตอย่างอื่นแทน ธนาคารก็สามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้” นายสุรัตน์กล่าว

BBL หันปล่อยกู้ผลิตแพ็กเกจจิ้ง

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ กล่าวยอมรับว่ากลุ่มผู้ประกอบการถุงพลาสติกมีผลประกอบการไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากภาพรวมยอดขายทั้งตลาดลดลง 30-40% ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ดี ธนาคารกรุงเทพมีฐานลูกค้าที่ผลิตถุงพลาสติกจำนวนน้อย เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดมีการแข่งขันด้วยราคาที่สูง และให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ทำให้ธนาคารไปเน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่มผู้ผลิตแพ็กเกจกิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธุรกิจมีมูลค่าสูง เช่น ซองบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และพลาสติกลามิเนต เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ยังไปได้ดี

“กลุ่มผลิตถุงพลาสติกไม่ดีแน่นอน เป็นไปตามภาวะตลาดที่ยอดขายตกลง แต่ธนาคารกรุงเทพโชคดีที่เราไม่ได้เน้นกลุ่มนี้อยู่แล้วตั้งแต่แรก ทำให้เรามีพอร์ตกลุ่มนี้น้อยมาก แต่เราก็ไม่ละเลยให้ความช่วยเหลือตามปกติ หากลูกค้ามีปัญหา” นายศิริเดชกล่าว

ผู้ประกอบการหมดหวัง

ขณะที่นายสมชัย เตชะพานิชกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย กล่าวว่า จากที่สมาคมได้เข้าหารือกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2562 เพื่อขอให้เยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลที่เร่งโรดแมปเลิกใช้ถุงพลาสติกเร็วขึ้น แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องมาตรการเยียวยาใด ๆ

ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมและปลัด ทส.ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติก และนายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ซึ่งทำหนังสือถึงกระทรวงกรณีอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกบางกว่า 36 ไมครอน (ถุงก๊อบแก๊บ) ทางผู้ประกอบการ

มีความเข้าใจอันดี เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางก็คือให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนการผลิตถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นถุงที่มีความหนามากกว่า 36 ไมครอน อาจจะเป็น 40, 50 หรือ 70 ไมครอน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ซ้ำได้ รวมถึงให้มุ่งพัฒนาการผลิตสู่พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ผลิตได้ 16-17% เพราะหากนำพลาสติกดังกล่าวบรรจุอาหารจะสามารถย่อยสลายไปพร้อมกับเศษขยะอาหารได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาไปได้


“เอกชนยินดีที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตมาผลิตถุงที่หนากว่า 36 ไมครอน ในรูปแบบถุงซอฟต์ลูฟ และไซต์กราสเซต แทนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเท่าที่หารือการผลิตถุงรูปแบบนี้ ผู้ผลิตไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่ สามารถใช้ตัวเป่าเดิมและปรับโมเดลเพียงเล็กน้อย ส่วนต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นมั่นใจว่าผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระมาก เช่น ค่าถุงปกติอาจจะต้นทุนใบละ 20 สตางค์ อาจจะเพิ่มเป็น 50 สตางค์ เชื่อว่าคนไทยรับได้ แต่หากเทียบกับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ค่าถุงใบละเท่านี้ถือว่าไม่มาก ทุกประเทศทั่วโลกก็มุ่งสู่การลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน”