หลังการระบาดช่วง 1 ผ่านจุดสูงสุด และนัยต่อเศรษฐกิจและการลงทุน

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก
โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

ณ ขณะที่เขียนบทความอยู่ขณะนี้ (30 เม.ย. 63) การระบาดทั่วโลกของโควิด-19 ทำให้ผู้ติดเชื้อทะลุ 3 ล้านคน แต่อัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกเป็นอัตราการเพิ่มที่ลดลง บ่งชี้ว่ามาตรการปิดเมือง (lockdown) มีประสิทธิผลระดับหนึ่งแม้ว่าในมุมมองผมจะไม่มากตามที่คาดในตอนแรกก็ตาม เพราะการ lockdowns เกิดขึ้นหลังจากการระบาดเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วโลกแล้ว ดังจะเห็นจากจำนวนผู้ติดเชื้อจากระดับ 2 ล้านคนในวันที่ 13 เม.ย. เพิ่มอีก 1 ล้านคนในวันที่ 26 เม.ย.

กล่าวได้ว่าในเวลาเพียง 13 วันทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศตะวันตกปิดประเทศกันเป็นส่วนใหญ่ในต้น มี.ค. และสหรัฐมาปิดประเทศราว ๆ กลางเดือน มี.ค.แต่ไม่มีผลในการลดยอดผู้ติดเชื้อลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ต้นทุนทางเศรษฐกิจในการปิดเมืองสูงมากเพราะทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างแรงทั่วโลก และทำให้จำนวนคนหลายสิบล้านคนทั่วโลกขึ้นไปอยู่ในภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว และอีกหลายร้อยล้านคนในอนาคตอันใกล้จะมีความเสี่ยงจะกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวเช่นกันถ้าประเทศต่าง ๆ ยังคงเดินหน้าปิดเมืองต่อไป

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ในการระบาดช่วงที่ 1 ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว (จะมีการระบาดอีกหลายระลอกจากนี้ไป) และต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมากดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้การเปิดเมืองหรือการเปิดประเทศเป็นบางส่วนกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า และอะไรจะเกิดขึ้นหลังที่เราจำเป็นต้องกลับมาเปิดประเทศเป็นบางส่วน ผมมีความเห็น ดังนี้

1) ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิผลสูง และวัคซีนที่ป้องกันโควิด-19 จะปิดเมืองตลอดไปจนกว่าจะมีวัคซีนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขณะที่การระบาดในช่วงที่ 2 ต้องเกิดขึ้นแน่นอนเมื่อเปิดเมือง ทำให้รัฐบาลทั่วโลกคงจะเปิดเมืองบางส่วนเท่านั้น และอาจจะมาปิดเมืองอีกครั้งหรือหลายครั้งได้เช่นกันถ้าการระบาดกลับมารุนแรง

2) การเปิดเมืองเพียงบางส่วนควบคู่ไปกับการห้ามรวมกลุ่มของคนในจำนวนมาก ๆ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากนี้จะมีน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของก่อนการระบาดแน่ ๆ หรือไม่เกิน 1 ใน 3 ของภาวะก่อนการระบาด ดังนั้น เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่มีทางฟื้นเป็นรูปตัว V ในทางตรงกันข้ามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นรูปตัว U หรือฟื้นอย่างล่าช้า และคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีในการที่มูลค่าและขนาดทางเศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ในภาวะก่อนการระบาด แต่จีนน่าจะเป็นชาติที่เศรษฐกิจฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเร็วกว่าชาติอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ

3) รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังรวมกันล่าสุดประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9% ของ GDP โลก และใช้นโยบายการเงินอย่างเต็มที่ไม่มีจำกัด ช่วยเศรษฐกิจโลกไม่หดตัวมากกว่านี้ แต่เมื่อคำนึงว่าวัคซีนจะมาเร็วสุดใน 12-18 เดือนทำให้เป็นไปได้มากที่นโยบายการเงินในหลายประเทศจะขยับเข้าใกล้ debt monetization หรือการพิมพ์เงินของธนาคารกลางให้รัฐบาลใช้จ่าย และถ้าการระบาดยังคงดำเนินต่อเนื่องอย่างกว้างขวางและรุนแรงมากกว่า 1 ปี นโยบายการเงินอาจจะขยับไปเป็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบ MMT (modern monetary policy) ที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินให้ประชาชนและองค์กรธุรกิจโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตลาดการเงิน

4) กุญแจสำคัญที่สุดที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตคนกลับสู่ปกติ คือ มีวัคซีนรักษาโควิด-19 รองลงมาคือ ยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิผลสูงและมีผลข้างเคียงเล็กน้อย แม้ว่าตอนนี้สหรัฐจะมีโครงการสำคัญที่ทุ่มทรัพยากรชาติที่เรียกว่า operation warp speed เพื่อพัฒนาวัคซีนให้ได้ในปลายปีนี้ และแจกจ่ายทั่วสหรัฐใน ม.ค. 64 ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วและบริษัทยาชั้นนำของโลกต่างเร่งพัฒนาวัคซีนเช่นกัน แต่จากข้อมูลที่ผมสำรวจมาได้จนถึงขณะนี้ โอกาสที่มีวัคซีนใน 12 เดือนยังมีความเป็นไปได้ 1 ใน 3 หรือ 33%

5) เมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจรอบก่อน ๆ พบว่าครั้งนี้ (COVID-19 great recession) มีความซับซ้อนกว่า ความไม่แน่นอนสูง และผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจรุนแรงมากแตกต่างกว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อน ๆ ทำให้การลงทุนต้องเน้น risk management สำคัญกว่า investment strategy

6) ความเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนควรพิจารณา คือ credit event หรือการที่ผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้เพราะเงินลงทุนส่วนใหญ่ในโลกนี้ลงทุนในตราสารหนี้ และนี่คือเหตุผลที่ Fed และ ECB เริ่มเข้ามารับ junk bond เป็นหลักประกัน (Fed จะรับตราสารหนี้ระดับลงทุนได้เป็นหลักประกัน แต่ถ้าหลังจากรับเป็นหลักประกันแล้วตราสารนั้นถูกลดอันเป็น junk bond หรือ Fallen angel ยังถือว่าตราสารนั้นยังเหมาะสมในการอยู่ในโครงการของ Fed) เท่ากับว่าความเสี่ยงทาง credit ถ่ายโอนจากผู้ลงทุนและผู้ออกตราสารหนี้ไปธนาคารกลางที่กระทำดังกล่าวซึ่งจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือต่อเงินกระดาษของธนาคารกลางนั้นในอนาคต

7) สำหรับผู้รับความเสี่ยงต่ำ กระจายการลงทุนโดยเน้นน้ำหนักส่วนใหญ่ไปที่สินทรัพย์ปลอดภัยเป็นหลัก (ทอง พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้คุณภาพสูงมาก) จนกว่าจะเห็นการยืนยันประสิทธิผลของยาต้านไวรัส (เร็วสุดจะเป็นปลายปีนี้) และกำหนดการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ของวัคซีน (เร็วสุดจะเป็น 1.5 ปีจากนี้ไป)


8) สำหรับผู้รับความเสี่ยงระดับปานกลางขึ้นไป โลกหลังจากนี้ไป (post COVID-19) ควรลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ (new normal) ของคน องค์กรรัฐและเอกชนที่จะต้องปรับวิถีชีวิตตนเองให้สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซึ่งโดยมากจะเป็นบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี