ครม.เคาะเกณฑ์ใหม่ ซอฟต์โลน 3.5 แสนล้าน รายใหญ่ได้อานิสงส์

ซอฟต์โลน

ครม.อนุมัติ พ.ร.ก.สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3.5 แสนล้าน

วันที่ 23 มี.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม เห็นชอบ อนุมัติ พ.ร.ก.สินเชื่อฉบับใหม่ 3.5 แสนล้าน

มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมแถลงข่าวมาตรการบรรเทาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

แก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 3.5 แสนล้าน

นายอาคมกล่าวว่า ครม.เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หรือ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี 6 เดือนแรกรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ โดยสิ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ ให้ บยส.ค้ำสินเชื่อธุรกิจที่เป็นเอสเอ็มอีและไม่ใช่เอสเอ็มอีชั่วคราว

2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง หรือ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและต้องใช้เวลาฟื้นตัว เป็นธุรกิจที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจปกติต่อไปได้ และเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน สามารถนำทรัพย์สินมาวางกับสถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่เดิม และหากต้องการดำเนินธุรกิจต่อสามารถขอเช่าทรัพย์สินไปดำเนินธุรกิจได้ โดยการนำไปขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ และสามารถซื้อคืนทรัพย์ได้ตามราคาที่ตกลงกัน โดยสถาบันการเงินไม่เอากำไร

สิ่งที่เพิ่ม คือ การชดเชยจากภาครัฐกรณีหนี้เสียเพื่อเป็นหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปี 2 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี รัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 6 เดือนแรก (ไม่คิดดอกเบี้ย)

ยกเว้น-ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา-นิติบุคคล

นายอาคมกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการปรับปรุง พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 8 ข้อจำกัด อาทิ 1.คุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจที่จะเข้าร่วมโครงการ เรื่องการเป็นลูกหนี้เดิมและเป็นลูกหนี้ใหม่ 2.ระยะเวลา 2 ปี สั้นเกินไป 3.อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ไม่จูงใจสถาบันการเงิน 4.การชดเชยจากภาครัฐ 5.กลไกรับความเสี่ยง 6.ความไม่ครอบคลุมการแก้ปัญหาหนี้

นายอาคมกล่าวว่า กระทรวงการคลังเป็นห่วงธุรกิจที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ปกติ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว มีการบังคับซื้อโรงแรมในราคาบังคับขาย และเป็นห่วงการขอสินเชื่อใหม่ของธุรกิจที่ใหญ่กว่าเอสเอ็มอี ซึ่งทำให้ระบบการให้ สินเชื่อหดตัว ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งเป็นสัดส่วน 11.5% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้เป็นการเสนอร่าง พ.ร.ก.ฉบับใหม่  เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนหลักการและสาระสำคัญจากฉบับเดิม เพราะซอฟต์โลนภาค 1 ถูกออกแบบภายใต้สมมุติฐานโควิด-19 จบเร็ว แต่ปรากฏว่าการระบาดของโควิด-19 ลากยาว ปัญหายืดเยื้อ ทำให้เงื่อนไขที่ดีไซน์ไว้ไม่สอดคล้องกับปัญหา รวมถึงข้อจำกัด และการชดเชยความเสียหายต่ำ ทำให้แบงก์ก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ

สำหรับโครงการซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทของ ธปท. จนถึง (15 มี.ค. 2564) มีการอนุมัติสินเชื่อไปเพียง 1.33 แสนล้านบาท ผู้ได้รับซอฟต์โลน 7.67 หมื่นราย เฉลี่ยวงเงินรายละ 1.73 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กมาก