“อาคม” ชี้ พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5%

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“อาคม” ชี้ พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้าน แก้วิกฤตโควิดระบาด จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5%

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยบังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือ ตั้งแต่วันนี้ (25 พ.ค.2564) เป็นต้นไป

หรือเรียกว่าเป็นพ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับที่ 2 กรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการลงนามในสัญญาเงินกู้ หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 ก.ย.65 โดยพ.ร.ก.ฉบับนี้ ออกมาเพื่อเตรียมการการแพร่ระบาดระลอกใหม่ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.5% จากคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัว 1.5-2.5%

“ปีที่แล้วสภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจจะ -8% เมื่อมีมาตรการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ติดลบน้อยลง เหลือ -6% ฉะนั้น ในปีนี้ประมาณการเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวก โดยคำนวณจากคาดการณ์ 1.5-2.5% ก็จะทำให้โตเพิ่มอีก 1.5% ดีขึ้นกว่าคาดการณ์ ส่วนการกู้เงินนั้น จะทยอยกู้ตามความจำเป็น ไม่ได้กู้มาในคราวเดียว”

“ซึ่งสำนักงานบริการหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ดำเนินการกู้เงินอย่างระมัดระวัง ดูตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และประมาณการว่าหนี้สาธารณะ ยังอยู่ในกรอบที่ 58.56% ต่อจีดีพี แต่ถ้าเศรษฐกิจเติบโต ตัวเลขหนี้สาธารณะก็จะดีขึ้น”

สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทนั้น กำหนดการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ 3 แผนงาน ได้แก่ (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 30,000 ล้านบาท (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 300,000 ล้านบาท และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 170,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นสามารถปรับแผนงานการใช้จ่ายได้ โดยพ.ร.ก.ฉบับนี้จะเข้าไปเสริมตามแผนงานพ.ร.ก.ฉบับที่ 1 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้าน้ลานบาท) ซึ่งเน้นเข้าไปดูแลในบางเรื่อง เช่น เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กรายน้อย เป็นต้น