แบงก์ชาติ เปิดแนวทางกำกับตรวจสอบ SCBX ยานแม่ใหม่ไทยพาณิชย์

หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ มุ่งสู่การเป็น “เทคคัมปะนี” เพื่อแสวงหาการเติบโตใหม่ ๆ ภายใต้บริบทการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการพยายามทะลุขีดจำกัดความเป็นธนาคารพาณิชย์ โดยจัดตั้งบริษัท “เอสซีบีเอ็กซ์” (SCBX) เป็นยานแม่ แล้วแตกธุรกิจด้านต่าง ๆ ไปเป็นบริษัทลูกนั้น ทำให้มีคำถามว่าสุดท้ายแล้วการกำกับดูแลจะทำอย่างไร

แบงก์ตั้งโฮลดิ้งไม่ใช่เรื่องใหม่

โดย “นวอร เดชสุวรรณ์” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอบคำถามผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปลี่ยนโครงสร้างของกลุ่ม SCB ในครั้งนี้ เป็นการจัดโครงสร้างกลุ่ม โดยจะมี SCBX ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง เป็นบริษัทแม่ และมีธนาคาร รวมทั้งบริษัทอื่น ๆ เป็นบริษัทลูก (จากเดิมที่ธนาคารเป็นบริษัทแม่) ซึ่งการจัดโครงสร้างลักษณะนี้ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก็มีอยู่แล้ว อาจไม่ใช่เรื่องใหม่นัก

ทั้งนี้ ปัจจุบันก็มีธนาคารพาณิชย์ในไทยหลายแห่งที่มีบริษัทโฮลดิ้งเป็นบริษัทแม่ และมีธนาคารเป็นบริษัทลูก เช่นบมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ของธนาคารทิสโก้ (TISCO) หรือ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ของธนาคารแอล เอช แบงก์ (LH BANK) โดยขณะนี้ยังไม่ได้มีสถาบันการเงินอื่นขอเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลุ่มในลักษณะนี้เพิ่มเติม

หวังสร้างบริการทางการเงินที่ดี

“นวอร” กล่าวว่า ตามที่ธนาคารชี้แจงว่าการจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจในลักษณะดังกล่าวที่แยกการทำธุรกิจที่นอกเหนือจาก traditional banking (ธนาคารดั้งเดิม) มาดำเนินการภายใต้บริษัทลูกหลาย ๆ บริษัท โดยมีโฮลดิ้งคัมปะนีเป็นบริษัทแม่เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลนั้นธนาคารต้องการสร้างความคล่องตัวในการทำธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารให้สามารถเสนอบริการทางการเงินและที่เกี่ยวข้องได้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น ภายใต้บริบทปัจจุบันและในอนาคตที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญ ซึ่ง ธปท.ไม่ขัดข้อง

“ธปท.ไม่ขัดข้องหากการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้าประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นธรรมโดยธนาคารยังคงต้องดูแลให้ธนาคารและกลุ่มธุรกิจมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม”

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน ธปท.มีอำนาจในการกำกับและตรวจสอบกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ทั้งบริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วมอยู่แล้วและ ธปท.ก็มีประกาศหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ซึ่งทุกบริษัทในกลุ่มต้องปฏิบัติตาม ทั้งในเรื่องขอบเขตธุรกิจของแต่ละบริษัท การทำธุรกรรมระหว่างกันภายในกลุ่ม ธรรมาภิบาล การให้บริการที่เป็นธรรม (market conduct) ฯลฯ รวมทั้ง ธปท.มีการติดตามตรวจสอบกลุ่มธุรกิจทางการเงินทุกแห่งของธนาคารพาณิชย์แบบต่อเนื่อง (on-going supervision)

ธปท.อนุมัติอย่างช้า ม.ค.65

ส่วนขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของ SCB สู่ SCBX นั้น “นวอร” บอกว่า SCB ต้องมายื่นขออนุญาตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลุ่มกับ ธปท.อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งภายหลังที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ SCB ให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลุ่มนี้แล้ว (ประชุม EGM 15 พ.ย. 2564 คาดว่าจะยื่นขออนุญาต ธปท.ภายในเดือน พ.ย. และ ธปท.น่าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิ้น ธ.ค. 2564 หรือ ม.ค. 2565)

“ในการยื่นขออนุญาต ธนาคารจะต้องส่งรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ ธปท.ประกอบการพิจารณา เพื่อแสดงให้เห็นว่าธนาคารมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์กำกับดูแลในด้านต่าง ๆ เช่น ขอบเขตธุรกิจของบริษัทลูกทั้งหมด การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทในกลุ่ม การบริหารจัดการความเสี่ยง การทำหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารตามหลักธรรมาภิบาล การดำรงเงินกองทุนของทั้งธนาคารและกลุ่มธุรกิจให้เพียงพอรองรับการดำเนินธุรกิจและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม การดูแลลูกค้าให้ได้รับบริการอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม ตลอดจนหลักเกณฑ์เรื่องการจ่ายเงินปันผลรองรับการปรับโครงสร้างกลุ่ม”

บริษัทลูกต้องยื่นขอไลเซนส์ใหม่

ขณะเดียวกัน SCB ก็ต้องยื่นขออนุญาตและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลอื่นด้วย เช่น การประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการนำ SCBX เข้าจดทะเบียน (listed) ในตลาดหลักทรัพย์ฯแทน SCB ที่จะถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ (delisted) ออกไป รวมถึงการยื่นขอรับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจากกระทรวงการคลัง ผ่าน ธปท. สำหรับการจัดตั้งบริษัท CardX เป็นต้น

ผู้ว่าการ ธปท.หนุนแบงก์ปรับตัว

“ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธนาคารต้องปรับตัวเพื่อรองรับบริบทใหม่ ๆ และต้องจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปในรูปแบบที่สอดคล้องกับกระแสของอนาคตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของกระแสสีเขียว (green) และ ESG (การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) มากขึ้น อาทิ การผนวกเรื่อง ESG เข้าไปตลอดกระบวนการให้สินเชื่อ การเปิดเผยข้อมูลเรื่องการดำเนินการด้านความยั่งยืน รวมถึงการมีนโยบายขององค์กรที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน

โดย ธปท.ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลระบบธนาคารพาณิชย์ และทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ก็ต้องปรับตัวอย่างน้อย 3 ด้าน คือ (1) การดูแลให้บรรยากาศในภาคการเงินเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน (2) ต้องเพิ่มสมดุลระหว่างการเอื้อให้มีนวัตกรรมใหม่ หรือมีผู้เล่นรายใหม่ กับการดูแลให้ระบบการเงินยังสามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และมีเสถียรภาพ และ (3) ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และ SMEs ที่ยังเป็น pain point (จุดอ่อน) สำคัญของระบบการเงินไทย


สรุปแล้ว ในหลักการผู้กำกับดูแลไม่ขัดข้อง ส่วนความคืบหน้าในทางปฏิบัติต้องติดตามกันต่อไป