ไทยพาณิชย์ แนะลงทุน “ยุโรป-ญี่ปุ่น” รับผลตอบแทนท่ามกลางตลาดผันผวน

บลจ.ไทยพาณิชย์แนะเสริมพอร์ตลงทุนกองทุนต่างประเทศในตลาด “ยุโรป-ญี่ปุ่น” การันตีด้วยกองทุน 5 ดาวจาก Morningstar หลังมองเห็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีจากหุ้นขนาดเล็กในยุโรป และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น รวมถึงการตีราคา (Valuation) ของทั้งสองตลาดยังคงอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงมีความผันผวนจากหลาย ๆ ปัจจัย อย่างไรก็ตามบริษัท ก็ยังคงมีมุมมองที่ดีต่อตลาดหุ้นยุโรป ถึงแม้ว่าตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหราชอาณาจักร (Composite PMI) จะชะลอตัวลงจากทั้งภาคการผลิตและการบริการ รวมถึงตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ยังคงอยู่ในระหว่างการเปิดเมืองเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 2 ตลาดก็ยังคงมีการตีรารา (valuation) ที่น่าสนใจเช่นกัน

จึงได้แนะนำ 2 กองทุนต่างประเทศที่ได้รับการันตีคุณภาพ โดยจัดเป็นกองทุน 5 ดาวของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564) ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยุโรปสมอลแคป (SCB European Small Cap Equity Fund : SCBEUSM) โดยกองทุนมีการบริหารเชิงรุก (Active Fund) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว คือ European Smaller Companies Fund (กองทุนหลัก) ในสกุลเงินยูโร โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนจดทะเบียนภายใต้กฎหมายประเทศลักเซมเบิร์ก และอยู่ภายใต้ UCITS บริหารงานภายใต้ความดูแลของ Aberdeen Standard Investments

โดยกองทุนหลักมีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กในทวีปยุโรปและหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับหลักทรัพย์ของบริษัทที่จัดตั้งหรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในทวีปยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักรและตลาดเกิดใหม่ในยุโรป

และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCB Japan Equity Fund : SCBNK225) โดยกองทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว คือ NEXT FUNDS Nikkei 225 Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) ในสกุลเงินเยน เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บริหารงานภายใต้ความดูแลของ Nomura Asset Management Co.,Ltd.

โดยกองทุนหลักมีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารทุนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิกเคอิ 225 และตราสารทุนที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิกเคอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิกเคอิ 225 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ไปในทิศทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกับดัชนีนิกเคอิ 225 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศ

นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส

 

สำหรับตลาดหุ้นยุโรปจะเห็นว่าหุ้นขนาดเล็กมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีถึงแม้อยู่ในสภาวะที่ตลาดผันผวน โดยในบางช่วงเวลาหุ้นขนาดเล็กสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นในช่วงที่ตลาดมีอัตราการขยายตัวต่ำ โดยจากข้อมูลในอดีต หุ้นยุโรปขนาดเล็กได้ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นขนาดกลางและหุ้นขนาดใหญ่ในช่วงระยะเวลาการลงทุนระยะยาวที่มากกว่า 5 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ จากอัตราการฉีดวัคซีนในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นในยุโรป จะส่งผลให้หุ้นขนาดเล็กในยุโรปจะได้รับผลประโยชน์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องได้ สำหรับกองทุน SCBEUSM มีการลงทุนที่กว้าง โดยมีบริษัทจดทะเบียนชั้นนำระดับโลกหลายแห่งที่น่าลงทุนกว่า 1,000 บริษัท ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดต่ำกว่า 4 พันล้านยูโร โดยเน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบเลือกหุ้นรายตัวโดยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และให้ความสำคัญในการคัดสรรหุ้นจากปัจจัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ Quality, Growth, Momentum และ Value โดยเน้นพอร์ตการลงทุนที่มีความเชื่อมั่นสูง (high-conviction) ประมาณ 40-50 ตัว พร้อมทั้งกระจายการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น การกระจายการลงทุนในในหุ้นยุโรปขนาดเล็ก จึงเป็นตัวช่วยในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ดีขึ้น

ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกล่าสุดได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่อยู่ในระดับสูงถึง 73% โดยคาดการณ์ว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการเปิดเมืองอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังเป็นการช่วยผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศได้เป็นอย่างดี สำหรับตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวที่ยังคงมีความล่าช้าในการเปิดเมือง ทำให้ผลตอบแทนของตลาดยังไม่ฟื้นตัวมากนักเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอื่น

นอกจากนี้ความเสถียรภาพทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยหนุนตลาด โดยว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายฟูมิโอะ คิชิดะ ยังคงให้การสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการเงินและการคลัง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มช้ากว่าประเทศอื่น ในขณะที่ Valuation ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยอยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดหุ้นโลก จากปัจจัยดังกล่าว จึงแนะนำให้นักลงทุนเสริมการลงทุนในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีความน่าสนใจในขณะนี้