สินทรัพย์ดิจิทัลร้อนแรง “บัณฑูร” แตะเบรก-ก.ล.ต.เร่งรื้อกฎ

ธุรกิจ-สถาบันการเงินเคลื่อนทัพบุก “สินทรัพย์ดิจิทัล” รับมือโลกการเงินยุคใหม่ กระแสซื้อขายคริปโทฯร้อนแรง คนไทยแห่เปิดบัญชีเทรดแตะ 2 ล้านบัญชี ก.ล.ต.ประกาศรื้อกฎหมาย 2 ฉบับวิ่งไล่ตามกระแสเทคโนโลยี กฎหมายมีช่องโหว่เอื้อมไม่ถึง ดึง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ กำกับดูแลการระดมทุนด้วยโทเค็นดิจิทัล SCBX ยื่นขอ 3 ไลเซนส์ลุยสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร แบงก์กรุงเทพชี้เกมนี้ต้องดูยาว ๆ “บัณฑูร ล่ำซำ” เตือนร้อนแรง เคแบงก์ไม่รีบกระโจนลงทุน

“สินทรัพย์ดิจิทัล” เขย่าโลกธุรกิจ

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2565 คาดว่าจะได้เห็นการพัฒนาและการนำไปใช้งานใหม่ ๆ ของสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) อีกมาก ทั้งในส่วนที่นำมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินและอุตสาหกรรมอื่น ๆ

โดยในส่วนของการกำกับดูแลนั้น ก.ล.ต.ได้มีการติดตามแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามพัฒนาการและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการสร้างนวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการคุ้มครองผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

โดย ก.ล.ต. ยึดหลักสนับสนุนการพัฒนาควบคู่กับการคุ้มครองผู้ลงทุน และมีแนวทางกำกับดูแลให้มีความเท่าทันต่อพัฒนาการของธุรกิจและสภาพการณ์ปัจจุบัน ให้เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและพัฒนาการด้านนวัตกรรมทางการเงิน

โดยยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมยกระดับการกำกับดูแลในเรื่องสำคัญให้เทียบเท่าธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม

ลุยแก้กฎหมาย 2 ฉบับ

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯฉบับปัจจุบัน บางส่วนอาจไม่สอดคล้องกับลักษณะการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป ก.ล.ต.จึงเห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนทั้งในประเด็น “การเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นที่เกี่ยวข้องมาช่วยพิจารณาการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงต่อไป

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต.ได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะของการระดมทุน ได้แก่ โทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) และโทเค็นดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ซึ่งสินค้าหรือบริการที่ยังไม่สามารถใช้ได้ทันที (utility token ไม่พร้อมใช้) ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ไปกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องมือในการระดมทุนของภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างรับฟังความเห็น (hearing) เรื่องการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่ให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปทำธุรกรรมใด ๆ เป็นลักษณะการให้คำแนะนำแก่ลูกค้า หรือการจัดทำบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม DeFi (Decentralized Finance) เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการในวงกว้าง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง และมีกรณีที่เป็นการหลอกลวงและการโจรกรรมทางไซเบอร์ทำให้เสียหาย และอาจไม่มีโอกาสในการดำเนินคดี หรือติดตามทวงคืน

ยอดเปิดบัญชีหุ้น-คริปโท

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า จำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นสิ้นเดือน ต.ค. 64 มีจำนวนทั้งหมด 5,047,821 บัญชี ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดทำการซื้อขายครั้งแรกเมื่อปี 2518 อย่างไรก็ตาม สถิติการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 64 พบว่ามียอดอยู่ที่ 1,156,290 บัญชี เพิ่มขึ้น 188.04%

ขณะที่บัญชีผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ในเดือน ม.ค. 64 อยู่ที่ 4.7 แสนบัญชี และเพิ่มขึ้นเป็น 1.979 ล้านบัญชี ในเดือน พ.ย. 64 โดยคาดว่าถึงสิ้นปี 2564 จะแตะ 2 ล้านบัญชี

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า สาเหตุที่คนไทยหันมาสนใจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะผู้ซื้อขายสามารถลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ด้วยตนเอง โดยใช้จำนวนเงินไม่มาก สามารถซื้อขายเป็นหน่วยย่อยได้ ประกอบกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจการลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้กระแสนิยมการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ขณะเดียวกันปัจจุบันภาคเอกชนเริ่มให้ความสนใจกับการประยุกต์ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลกับธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือการนำทรัพย์สินมาแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีการประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับลูกค้า ทำให้กระแสนิยมการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

ก.ล.ต.อนุมัติแล้ว 27 ไลเซนส์

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแล ก.ล.ต. ทั้งการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี และโทเค็นดิจิทัล มีทั้งหมด 5 ประเภท

ได้แก่ 1.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) 2.นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (broker) 3.ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer) 4.ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (investment advisor) 5.ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (fund manager)

โดยล่าสุด (ข้อมูล 4 ม.ค. 64) มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตรวม 27 ใบอนุญาต ประกอบด้วย ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 7 ราย (ยกเลิกไป 1 ราย) นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล 6 ราย ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล 1 ราย ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลและ ICO portal 3 ราย

และสำนักงาน ก.ล.ต.ได้อนุมัติใบอนุญาต “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” รายแรกให้กับ บริษัท เมอร์เคิล แคปปิตอล จำกัด หรือ Merkle ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท “คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” สตาร์ตอัพธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ธนาคารกสิกรไทยส่ง “บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล” เข้าลงทุนรอบพรีซีรีส์ A

แบงก์ชักแถวสินทรัพย์ดิจิทัล

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ขณะที่ในภาคธุรกิจ และธนาคารพาณิชย์เริ่มมาใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล นั่นคือเทคโนโลยีบล็อกเชน (block chain) ที่เหมือนฐานรากหรือโครงสร้างพื้นฐานของคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ตัดตัวกลางทำให้ต้นทุนบางอย่างถูกลง รวมถึงการสร้างสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ ๆ

โดยปี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารไทยขนาดใหญ่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลกันมากขึ้น เห็นได้ชัดจากกลุ่มไทยพาณิชย์ (SCBX) ที่ประกาศส่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) เข้าซื้อหุ้น 51% ในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตเป็น “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยคาดว่าจะใช้เงินกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ SCBS ยังได้ยื่นขอรับใบอนุญาต “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล” รวมทั้งส่งบริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด ขอรับใบอนุญาตเป็น ICO portal เพื่อลุยธุรกิจโทเค็นดิจิทัลแบบครบวงจร

พร้อมส่งบริษัท SCB 10X ก็ร่วมทุนกับ Workpoint จัดตั้งบริษัท ทีป๊อป อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด รุกตลาดดิจิทัลไลฟ์สไตล์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ พัฒนาแพลตฟอร์มรองรับการทำ NFT (non fungible token) รวมถึงการไปร่วมลงทุนใน Nansen แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลบนระบบบล็อกเชนจากสิงคโปร์ ที่สามารถเห็นภาพรวมของตลาดแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจสอบสถานะของแต่ละสินทรัพย์บนโลกดิจิทัล และ NFTs

และล่าสุด Token X ผนึก iAM ผู้ดูแลศิลปินวง BNK48 ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิงไทยนำระบบบล็อกเชนและ tokenization ตอบโจทย์โซลูชั่นสำหรับการพัฒนา utility token พร้อมใช้ เพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างแฟนคลับและศิลปิน

ขณะที่ธนาคารรายอื่น ๆ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย เริ่มขยายความร่วมมือส่งบริษัทลูก บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล ลงทุนในบริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และส่ง KBTG ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ส่วนธนาคารกรุงศรีฯได้ส่งบริษัทลูก กรุงศรีฟินโนเวต ร่วมทุน Zipmex และเตรียมร่วมจัดตั้ง Crypto Fund เพื่อบริหารการจัดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

คำเตือนของ “บัณฑูร ล่ำซำ”

อย่างไรก็ดี นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลว่า เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะก็ไม่เข้าใจว่าที่ราคาขึ้น ๆ ลง ๆ มาจากพื้นฐานอะไร คนรุนใหม่แห่เข้าไปซื้อขายเพราะเพื่อนบอกว่ามีกำไรก็เข้าไปเล่นกัน เพราะกลัวเสียโอกาส ถ้าไม่ได้กู้เงินมาซื้อก็ยังดี แต่ถ้ากู้มาเล่นเวลาพังลงมา จะยิ่งกลายเป็นหนี้มากขึ้น

ขณะที่ในส่วนของแบงก์ก็มีการศึกษาอยู่ในแง่ของเทคโนโลยี เพราะเดี๋ยวจะตกยุค แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องรีบเข้าไปลงทุน บอกให้ฝ่ายบริหารศึกษากันให้ดี ๆ จะทำอะไร เกิดอะไรขึ้นจะได้รับผิดชอบได้ เพราะตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้วอนาคตของสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นอย่างไร จะเข้ามาทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนนี้ก็เป็นการคาดการณ์กันเท่านั้น

SCBX เน้นสร้างระบบนิเวศ

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวทางการเข้าสู่สินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) จะเน้นเรื่องการโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างระบบนิเวศเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้ไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเอง

อย่างไรก็ดี ธนาคารเชื่อว่าเรื่องกระแสของการใช้เงินสกุลดิจิทัลจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนจะเพิ่มขึ้นเร็วหรือช้าจะขึ้นอยู่กับการนำเงินสกุลดิจิทัลไปใช้จริง แต่เชื่อว่ากระแสไปในทางเพิ่มขึ้นในระยะยาว ธนาคารจึงอยากมีความพร้อมกับส่วนนี้ ดังนั้นธนาคารจะต้องสร้างขีดความสามารถในการบริการ และมีโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนมีระบบนิเวศของสกุลเงินดิจิทัล

“ไม่ได้แปลว่าธนาคารจะไปลงทุนสกุลเงินดิจิทัลเอง เพราะธนาคารไม่ต้องการมีผลประกอบการจากการผันผวนของสกุลเงินดิจิทัล แต่ธนาคารต้องการมีผลประกอบการจากการให้บริการเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลมากกว่า ที่ผ่านมาเราเห็นบริการทางการเงินถูก disrupt จากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน จึงเป็นที่มาของกลุ่ม SCBX เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาระบบนิเวศของ digital asset”

BBL ไม่รีบเกมนี้ต้องดูกันยาว ๆ

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ดังนั้นเราจะต้องมองนิ่ง ๆ เช่น หากย้อนไป 5 ปีก่อน ทุกคนจะตื่นเต้นกับฟินเทค และเมื่อเวลาผ่านไปก็มี fintech ที่ไปไม่รอด และกลายเป็นธนาคารต้องปรับตัวเป็นเทคคอมปะนี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง

ในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี เกิดจากพื้นที่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ไม่มีอะไรควบคุม ทุกคนมองว่าคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ที่ต้องกระโจนเข้าไป เพราะในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ผลตอบแทนในสินทรัพย์พวกนี้น่าจะดีกว่า ซึ่งต้องถามตัวเองว่าเวลาซื้อเข้าใจสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า หรือดูแค่ราคาซื้อขายว่าวิ่งขึ้นและลง แต่ไม่รู้ว่าราคาพื้นฐานคืออะไร ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งในอนาคต

“เรามองปรากฏการณ์นี้ในฐานะแบงก์ ซึ่งต้องพยายามทำความเข้าใจ เพราะเห็นสัญญาณวัฏจักรมา และสักพักหนึ่งก็จะมีการปรับตัว และแก้ไขของมันไป แต่จะทำอย่างไรให้คนที่กระโจนเข้าไปไม่ได้รับผลกระทบมากกว่า จึงมองเรื่องความรู้ทางการเงิน เป็นอีกมิติหนึ่งที่ต้องช่วยกันสอน ช่วยกันเตือนในเรื่องของการลงทุนเรื่องพวกนี้ ในมุมผมปรากฏการณ์เรื่องนี้น่าตื่นเต้น น่าติดตาม แต่ต้องดูกันยาว ๆ”

อย่างไรก็ดี หากพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในบทบาทกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ก็เป็นไปได้ เพราะถือเป็นช่องทางหนึ่งในการเติมเงินสด และสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามทำในการพัฒนาบาทดิจิทัล ก็เป็นแนวทางที่ถูกแล้ว ซึ่งจะต้องเข้าไปในฐานะผู้กำกับดูแล เพราะถ้า ธปท.ไม่คิดสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมา และปล่อยให้ตลาดปรับตัวไปเอง เชื่อว่า ธปท.จะไล่ไม่ทัน

ธปท.นำร่องทดสอบ “บาทดิจิทัล”

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล หรือ CBDC (Central Bank Digital Currency) เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลกดิจิทัล เรียกว่า “บาทดิจิทัล” สามารถใช้เป็นสื่อกลางชําระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย

นายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าว่า CBDC เปรียบเหมือน “เงินบาท” หรือ “ธนบัตร” ที่ออกโด ยธปท. แต่เป็นในรูปแบบดิจิทัล มูลค่าเงินหนุนหลังอัตรา 1 ต่อ 1 ไม่มีความเสี่ยง สะดวก ปลอดภัย สามารถใช้เป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย และ ธปท.เปิดกว้างในการเชื่อมต่อนวัตกรรมและบริการ โดย ธปท.จะเริ่มทดลองการใช้งานบาทดิจิทัลภาคประชาชน ในวงจำกัดช่วงปลายปี 2565

“เคบีทีจี” มองธุรกิจขี่คลื่น DeFi

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิสซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเข้าสู่ธุรกิจโลกการเงินยุคใหม่ หรือ Decentralized Finance (DeFi) ของธุรกิจต่าง ๆ เปรียบเหมือน elephant in the room ทั้ง ๆ ที่มีคิงคองและก็อตซิลล่า หรือเทคโนโลยีอื่นให้โฟกัสได้อีกมาก แต่คนไม่ได้มอง

ดังนั้นจะลงทุนเทคโนโลยีอะไร จึงควรศึกษาว่ามีประโยชน์ธุรกิจหลักในอนาคต อย่ากลัวว่าจะตกขบวนเทคโนโลยี แต่ให้ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกลยุทธ์ และวิสัยทัศน์ที่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาสร้างผลดีกับธุรกิจในปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างไร

สำหรับกระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หลายคนมองว่าเป็น “ฟองสบู่” โดยส่วนตัวถามว่าเกิดขึ้นกับทุกสินทรัพย์หรือเปล่า คำตอบคือทุกสินทรัพย์ เช่น ตลาดหุ้นก็ขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เพราะมีการพิมพ์เงินเข้าไปในระบบจำนวนมาก คนจึงนำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ และสินทรัพย์ดิจิทัล

“การนำเงินดิจิทัลมาใช้ในโลกจริง ๆ เป็นการสร้างคุณค่าให้กับเงินดิจิทัล หากนำไปใช้ในโลกแห่งความจริงได้ มันไม่ใช่สินทรัพย์ที่เกิดจากการลงทุนของคนอย่างเดียว ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ตามการขยายตัวของเน็ตเวิร์ก”

ธุรกิจเคลื่อนทัพบุกดิจิทัลแอสเสต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีที่ผ่านมาจะเห็นปรากฏการณ์ภาคธุรกิจต่าง ๆ กระโดดเข้าไปลุยในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น อาทิ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นน่านน้ำรายได้ใหม่ของแกรมมี่ในระยะยาว โดยยุทธศาสตร์ของบริษัทคือการขับเคลื่อน MUSIC NFT เป็นช่องทางการผลักดันผลงานแกรมมี่ไปสู่แฟนคลับและนักสะสม โดยล่าสุดบริษัทได้จับมือกับ Bitkub เพื่อจำหน่ายวางสินค้าอยู่ในแพลตฟอร์มของ Bitkub โดยมุ่งเป้าไปสู่การเป็น MUSIC NFT ที่ใหญ่ที่สุดในไทย

ฟากของอาร์เอส จับมือ โฟร์ท แอปเปิล เปิดตัว Popcoin สมาร์ทมาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์ม เชื่อมธุรกิจบันเทิง-คอมเมิร์ซไว้ด้วยกัน พร้อมเตรียมเปิดเทรดเหรียญ Popcoin ต้นปี’65 นี้ โดยได้เข้าหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการลิสต์เหรียญบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล “Bitkub”

ด้านบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ร่วมกับบริษัท บิทคับ แคปปิตอล จัดตั้งบริษัทร่วมทุน “บริษัท บิทคับ เอ็ม จำกัด” เพื่อบริหาร บิทคับ เอ็ม โซเชียล ดิจิทัลคอมมิวนิตี้แห่งแรกของประเทศในการเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนด้านความรู้ การจัดสัมมนาและการประชุมทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนเป็นศูนย์การเทรดและการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งมี NFT Gallery & Gaming และนำเข้าสู่โลกของ METAVERSE ในอนาคต


ด้าน “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” (CRC) ได้ประกาศบุกตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ด้วยการเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัล สกุลเงิน C-Coin นำร่องใช้กับพนักงานในเครือ 1,000 รายการ ก่อนจะขยายครอบคุลมพนักงานกว่า 80,000 รายในเครือทั่วโลก วางเป้าระยะยาวเปลี่ยนไปสู่สังคมไร้เงินสด การร่วมทุน และก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซอย่างแท้จริง