แนะ SMEs ปรับกลยุทธ์ รับมือต้นทุนธุรกิจเพิ่ม

SMEs
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : ttb analytics

ภายใต้บริบทการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 ที่มีปัจจัยบวกจากนโยบายผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 จากการเปิดประเทศ รวมถึงภาคส่งออกขยายตามเศรษฐกิจโลก

แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19“สายพันธุ์โอมิครอน” และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุดิบการเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักกับผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่ขนาดย่อมที่มีความเข้มแข็งทางการเงินต่ำ ให้เร่งปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้ศึกษาโครงสร้างต้นทุนของภาคธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ภาคผลิต บริการ และการค้า มีโครงสร้างต้นทุนที่ต่างกัน โดยต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนดำเนินงานของ SMEs ภาคการผลิตอยู่ที่ 92% และ 8% ภาคการค้า 85% และ 15% และภาคบริการ 79% และ 21%

จากแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนการดำเนินงาน ธุรกิจ SMEs จึงมีแนวทางรับมือที่ต่างกันตามประเภทของธุรกิจ โดยแนวทางเหล่านั้นต้องเหมาะสมกับทิศทางการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ต่างกัน ttb analytics จึงแนะกลยุทธ์เพื่อให้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่ธุรกิจแวดล้อมไปด้วยปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละภาคธุรกิจ ได้แก่

กลุ่ม SMEs ภาคการผลิต ที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนและเติบโตต่อเนื่อง โดยมีโครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่เป็นด้านวัตถุดิบ ภาคการผลิตควรปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มช่องทางขายบน platform online เพิ่มจุดผลิต/กระจายสินค้าเพื่อครอบคลุมพื้นที่ขายให้เพิ่มมากขึ้น หรือเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ ๆ

ส่วนระยะต่อไป ควรให้ความสำคัญด้านต้นทุนมากขึ้น โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริหารจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

กลุ่ม SMEs ภาคการค้า ที่มีทิศทางการฟื้นตัวชัดเจนและเติบโตต่อเนื่อง แต่พบว่าโครงสร้างต้นทุนดำเนินงานมีสัดส่วนสูงกว่าภาคการผลิต ภาคการค้าจึงสามารถเน้นลดต้นทุนในส่วนดำเนินงานได้ง่ายกว่า เช่น ลดการทำงานทับซ้อน คุมสต๊อกสินค้าให้มีปริมาณเหมาะสมเพื่อลดการสูญเสียหรือล้าสมัย

รวมถึงใช้บริการพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น บริการขนส่งที่ช่วยลดต้นทุนค่าแรงและค่าพลังงานได้บางส่วน พร้อมกับสามารถเพิ่มช่องทางรายได้ด้วยเช่นกัน จากการขายเพิ่มเติมด้วยการพึ่งพากำลังซื้อผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัว และอาจหาช่องทางรายได้ใหม่ จากตลาดที่เปิดกว้างบนพื้นที่ online ที่ต้นทุนต่ำกว่าการขายหน้าร้าน

กลุ่ม SMEs ภาคบริการ (service sector) ที่แนวโน้มการฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน และธรรมชาติของธุรกิจบริการที่รับรู้รายได้จากตลาดใหม่จะช้ากว่าภาคการผลิต กลุ่มภาคบริการควรให้ความสำคัญกับการลดต้นทุน โดยเฉพาะด้านการดำเนินงาน เนื่องจากมีสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น ๆ

โดยเริ่มจากการลดหรือรวมกระบวนการทำงานที่ทับซ้อน เพื่อลดต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับกิจการ การเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจจากการเพิ่มทักษะฝีมือ รวมถึงใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนบางส่วน และในระยะถัดไปเมื่อพบสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ธุรกิจควรเร่งด้านช่องทางรายได้เพิ่มเติมโดยการหาเครือข่ายพันธมิตรเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า หรือเพิ่มรูปแบบงานบริการที่ใกล้เคียงกับธุรกิจเดิมเป็นฐานรายได้ใหม่ เพื่อรักษาพื้นที่กำไรเพิ่มในระยะถัดไป

จากทิศทางต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นและแนวโน้มการฟื้นตัวที่แตกต่างกันในแต่ละภาคธุรกิจ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของตนเอง เพื่อที่จะได้บริหารต้นทุนและจัดการช่องทางการตลาดให้เหมาะสม อันจะนำไปสู่การรักษาผลประกอบการให้ดำเนินต่อไปได้