เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี ตลาดจับตาวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ยังน่าเป็นห่วง

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 5 เมษายน 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/4) ที่ระดับ 33.44/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (4/4) ที่ระดับ 33.49/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีแนวโน้มบานปลาย โดยรายงานล่าสุดระบุว่าทางการยูเครนพบร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมากในเมืองบูชา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเคียฟ

ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเรียกร้องให้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำตัวประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ขึ้นศาลในฐานะอาชญากรสงคราม และกล่าวว่าสหรัฐเตรียมคว่ำบาตรรัสเซียมากขึ้นเพื่อตอบโต้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในยูเครน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐ ลดลง 0.5% ในเดือน ก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยคำสั่งซื้อภาคโรงงานได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ และการที่ภาคธุรกิจเพิ่มการใช้จ่ายในภาคบริการ นอกจากนี้นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของเฟดประจำเดือน มี.ค.ที่จะมีการเปิดเผยในวันพุธตามเวลาสหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 104.79 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.73% จากตลาดคาด 5.7-6.3% และเพิ่มขึ้น 0.66% จากเดือน ก.พ. 65 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้ CPI ไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 65) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.75% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ 102.43 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.00% และเพิ่มขึ้น 0.23% จากเดือน ก.พ. 65 ส่งผลให้ CORE CPI ไตรมาสแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.43%

พร้อมกันนี้ สนค.ยังได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี’65 ใหม่มาที่ 4-5% หรือเฉลี่ยทั้งปีที่ 4.5% ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.7-2.4% นอกจากนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี’65 เป็นขยายตัว 2.5-4% จากเดิม 2.5-4.5% พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ เป็น 3.5-5.5% จากเดิม 2-3% ส่วนการส่งออกยังคงเป้าเดิมที่ 3-5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.38-33.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.40/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (5/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0970/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/4) ที่ระดับ 1.0975/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนขายเงินยูโรซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐหลังตลาดกังวลสถานการณ์ตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน โดยจับตาการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมของชาติตะวันตกต่อรัสเซีย รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสด้วย ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0962-1.0989 และปิดตลาดที่ระดับ 1.0983/85

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (5/4) เปิดตลาดที่ระดับ 122.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/4) ที่ระดับ 122.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นพาผู้ลี้ภัยชาวยูเครนจำนวน 20 คนเดินทางสู่กรุงโตเกียวในวันนี้ (5 เม.ย.) โดยถือเป็นการสนับสนุนความพยายามของประชาคมโลกในการช่วยเหลือยูเครนครั้งสำคัญ แม้ที่ผ่านมาญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะรับชาวต่างชาติเข้าประเทศมาโดยตลอด ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยูในกรอบระหว่าง 122.40-122.99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 122.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลการค้าสหรัฐเดือน ก.พ.(5/4), ดัชนี PMI ภาคบริการจากสถาบัน ISM เดือน มี.ค. (5/4), รายงานการประชุมนโยบายการเงินอีซีบี (7/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.55/+0.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +6.75/+7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ