โจทย์ใหญ่ ธปท. สางปัญหาหนี้ครัวเรือน ttb หนุนปรับ ‘รวมหนี้’-BBL แนะคุมต้นเหตุ

หนี้

ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณว่า เตรียมออกมาตรการเสริมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจรมากขึ้น

โดย “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติม

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เช่น การเสริมรายได้ การแก้หนี้อย่างบูรณาการ รวมถึงการส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีวัฒนธรรมในการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ (responsible lending) เพื่อให้ภาพรวมลูกหนี้ดีขึ้น และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ การออกมาตรการเสริมจะโฟกัสกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง ธปท.เห็นว่าการเจาะให้ถึงลูกหนี้ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เป็นเรื่องเร่งด่วน

“ตอนนี้มีการหารือมาตรการกัน ก็คงมีมาตรการเพิ่มเติม แต่อย่างว่าโจทย์คงไม่ได้อยู่ที่แบงก์ชาติหน่วยงานเดียว เพราะหนี้สินครัวเรือนเป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการแก้ไขทั้งหมด ทั้งวิธีการเสริมรายได้ให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ การดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องหารือทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง” รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

“ทีทีบี” หนุนปรับ “รวมหนี้”

“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันนับว่าน่ากังวล โดยปัญหาไม่ได้อยู่ที่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง

แต่อยู่ที่สัดส่วนหนี้เพื่อการบริโภคที่มีสัดส่วนมากถึง 35% ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) ที่มีภาระจ่ายดอกเบี้ยสูง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาอาจจะไม่ใช่มุ่งที่การลดหนี้ทันที แต่อาจจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ โดยลดสัดส่วนหนี้เพื่อการบริโภค หรือหนี้ที่ไม่มีหลักประกันลง

“หนี้เพื่อการบริโภคพวกนี้ดอกเบี้ยจะสูงกว่าหนี้บ้าน หนี้รถด้วย และส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นหนี้ที่กู้มาเพื่อนำไปใช้ชำระหนี้นอกระบบด้วย ซึ่งการแก้ไขผมคิดว่าต้องเริ่มจากการรวมหนี้ แปลงเป็นเทอมโลน แล้วนำหลักประกันมาพิง

โดยทางการต้องสนับสนุนและทำให้จูงใจผู้บริโภคมากกว่ามาตรการที่มีอยู่แล้ว ก็คือทำยังไงให้ลดดอกเบี้ยลงมาได้ เพราะจะช่วยลดภาระให้ครัวเรือนลงไปได้เยอะมาก” นายนริศกล่าว

หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี กล่าวด้วยว่า การที่ ธปท.พยายามตรึงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะการจะขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องพิจารณา โดยคำนึงถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีที่เปราะบาง ว่าจะรับภาวะดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ด้วย

แบงก์ชี้ต้องคุมก่อหนี้-แก้ต้นเหตุ

ขณะที่ “ศิริเดช เอื้องอุดมสิน” รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ธปท.อาจจะต้องมีการดูแลตั้งแต่การก่อหนี้ เพื่อไม่ให้ผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบางก่อหนี้เกินตัว โดยการรวมข้อมูลหนี้ที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบเข้ามาอยู่ในระบบ

เช่น กลุ่มสหกรณ์ หรือหนี้นอกระบบ กลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ที่ยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบข้อมูลเครดิต เข้ามาทั้งหมด เพื่อดูภาระหนี้โดยรวมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันอาจจะมีการควบคุมสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของผู้กู้ ว่าจะต้องมีสัดส่วนไม่เกินเท่าไรในลูกค้าแต่ละรายในการก่อหนี้เพิ่ม นอกจากการดูเพียงความสามารถในการชำระหนี้ หรือรายได้ต่อเดือนมารองรับเท่านั้น เพื่อป้องกันการปล่อยสินเชื่อที่เกินตัวของผู้กู้

“ตอนเศรษฐกิจดี ดอกเบี้ยต่ำ ทุกคนก็กู้กันจนล้นพ้นตัว หลังจากนี้ดอกเบี้ยอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ลูกหนี้จะยิ่งลำบากขึ้นหากจะแก้ปัญหา เราคงต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง โดยให้คนไทยกู้น้อยหน่อย ต้องออกมาตรการคุมต้นเหตุ น่าจะดีกว่ามาแก้ตอนเป็นหนี้แล้ว เพราะจะยิ่งแก้ยากและใช้เวลานาน

อย่างไรก็ดี มาตรการที่ ธปท.ออกมาก่อนหน้านี้ก็ยังสามารถดำเนินการต่อเนื่อง เช่น หากกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กขาดสภาพคล่อง ก็ให้วงเงินเสริมสภาพคล่อง หรือเริ่มกลับมาทำธุรกิจก็ให้สินเชื่อฟื้นฟู ขณะเดียวกัน ธนาคารอาจจะช่วยลูกค้าในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ

เช่น การหาตลาดใหม่ ปรับผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมทางด้านเครือข่ายและช่องทางการขายใหม่ ๆ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ไหวก็ต้องประคองต่อโดยการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ หรือรวมหนี้รายย่อยลดภาระดอกเบี้ย เป็นต้น”

หลังจากนี้ มาตรการเสริมของทาง ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะออกมาแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ดีแค่ไหนคงต้องติดตามกันต่อไป