ประธานบอร์ด ธปท. แนะแก้ 2 โจทย์ เคลื่อน New Chapter เศรษฐกิจไทย

ปรเมธี วิมลศิริ
ปรเมธี วิมลศิริ

“ปรเมธี” ประธานบอร์ด ธปท. ชี้เศรษฐกิจไม่แน่นอน เปิด 5 เรื่อง ไทยเผชิญหลังโควิด แนะแก้ความมั่นคงของมนุษย์-เศรษฐกิจใหม่ ตอบโจทย์ New Chapter

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “สภาวะแวดล้อมใหม่ทางเศรษฐกิจและการเงิน” ในงานสัมมนา New Chapter เศรษฐกิจไทย จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ประกาศตัวเลข ไตรมาสแรก ของปี 2565 ขยายตัว 2.2% แต่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2565 เหลือ 3%

ส่วนเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% สูงกว่าระยะปานกลางจากการวางกรอบเงินเฟ้อ ที่ค่าเฉลี่ย 1-3% ซึ่งเศรษฐกิจยังอยู่บนพื้นฐานความไม่แน่นอน ทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครนยืดเยื้อ รวมถึงการปรับรูปแบบนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกาด้วย โดยประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งต้องดูความสมดุลในการดูแลเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อ

ปรเมธี วิมลศิริ

“เรื่องอัตราดอกเบี้ยคงจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบานการเงิน (กนง.) จะเห็นความเหมาะสมเมื่อไหร่ ซึ่งสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประเมินว่าในปีนี้นักท่องเที่ยวจะเข้ามา 5-6 ล้านคน ก็เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามว่าจะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ฉะนั้น เศรษฐกิจจึงเป็นการฟื้นตัวไม่แน่นอน และเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่วนเงินเฟ้อก็ขยายตัวสูงกว่าที่คาด”

ขณะที่หลังจากโควิด ภาพประเทศไทยที่จะเผชิญอยู่ จะมี 5 เรื่อง ซึ่งหลายประเทศก็จะมีสภาพเช่นเดียวกัน ได้แก่ 1.ฐานะการคลังยังมีเสถียรภาพ แต่ความสามารถในการใช้เครื่องมือเหลือน้อย เพราะหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 40% เป็น 58% ในปัจจุบัน และมีการจัดงบขาดดุล ซึ่งหนี้อาจจะเพิ่มขึ้น เป็น 67% ในปี 2569 ฉะนั้น เมื่อฟื้นวิกฤตควรปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะให้กลับสู่ระดับไม่เกิน 60% ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ในการใช้นโยบายการคลังในอนาคต หากเจอวิกฤตเศรษฐกิจไม่คาดคิดอีก

“ดังนั้น โจทย์การหารายได้เพิ่ม และการบริหารงบประมาณที่มีอย่างจำกัดจะเป็นโจทย์รัฐบาลชุดต่อไป รวมถึงนโยบายการเงินด้วย เมื่อดอกเบี้ยนโยบายลดถึง 0.5% แล้ว ระยะต่อไปก็คงต้องมีการปรับขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม”

2.ความเหลื่อมล้ำ ความคิดเห็นต่างในสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโควิดมีผลกระทบรุนแรงต่อคนรายได้น้อย รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี โดยการจ้างงาน หนี้ครัวเรือน เพิ่มสูงขึ้น และกลุ่มเปราะบางก็ได้รับผลกระทบด้วย ฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้ว จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก ยังรวมถึงความเห็นต่างในสังคม ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงในระยะต่อไป 3.คุณภาพคนถดถอยในภาวะวิกฤต เกือบ 2 ปี ที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ก็จะสูญเสียโอกาสผลสัมฤทธิ์ลงไปอีก นักศึกษาจบใหม่ก็หางานทำไม่ได้ กระทบต่อโอกาส และเสถียรภาพการทำงานในระยะยาว

4.เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าเสถียรภาพ การท่องเที่ยวจะกลับมา 40 ล้านคน ต้องใช้เวลาอีกระยะ ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยยังมีส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการเต็มที่ ส่วนการผลิตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นน้อยมาก ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องดูแล และ 5.การปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีรวดเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นข่าวดีของโควิด

ทั้งนี้ หลังจากระยะต่อไป ประเทศไทยก็จะเผชิญกับสังคมสูงวัย การดำเนินนโยบายลดคาร์บอนไดออกไซด์ และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากถามว่าเมื่อเห็นภาพเศรษฐกิจนี้แล้ว อยากเห็น New Chapter เศรษฐกิจไทยอย่างไรนั้น ส่วนตัวอยากเห็นความมั่นคงของมนุษย์เพิ่มขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม

สำหรับความมั่นคงของมนุษย์ โควิดเป็นวิกฤตความมั่นคงของมนุษย์โดยตรง ทั้งการขาดรายได้ สุขภาพ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ฉะนั้น New Chapter ควรมีระบบสวัสดิการมาปิดช่องว่างมากขึ้น เช่น มีระบบประกันสังคมดูแลแรงงานนอกระบบ 21 ล้านคน และให้ความรู้และทักษะแรงงานใหม่ ๆ รวมทั้งดูแลสุขภาพ และดูแลที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย

ขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม เห็นแล้วว่าการเติบโตอาจไม่ตอบโจทย์ New Chapter และไปนำไปสู่ปัญหา ฉะนั้น จากนี้ไปต้องสร้างเศรษฐกิจที่มีคุณภาพในทุกสาขา เช่น ภาคการเกษตร ไทยใช้เงินอุดหนุนมากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น ต้องเริ่มจำกัดการประกันราคาพืชผลที่ให้เปล่า เปลี่ยนเป็นใช้เงินเพิ่มคุณภาพการผลิต เป็นต้น ด้านการท่องเที่ยว อนาคตจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาเป็นจำนวนมาก จะต้องมีแรงจูงใจที่จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมา เพื่อสร้างรายได้สูงขึ้น และสร้างรายได้เพิ่ม

“New S-Curve ที่เป็นโอกาสของไทยก็มีมาก และเป็นความท้าทายว่าเราจะเติบโตได้แค่ไหน ทั้งอุตสาหกรรมสาขาใหม่ ๆ ซึ่งต้องการสภาพแวดล้อมจากเอกชน และการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่การจัดงบประมาณของรัฐยังเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจเก่า ควรจะทบทวนภารกิจและระบบที่จะมาสนับสนุนเศรษฐกิจใหม่ ให้เป็นพระเอกใน New Chapter ให้สามารถสนับสนุนเอกชน และผู้ประกอบการเติบโตขึ้นได้”

ทั้งนี้ ธปท.พร้อมจะสนับสนุน New Chapter ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งประเทศไทยเข้าถึงบริการอีเพย์เมนต์ พร้อมเพย์ การชำระเงินระหว่างประเทศผ่านมือถือด้วยคิวอาร์โค้ด และปลายปีจะมีการทดลอง Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อการใช้งานจริง (Pilot Test) รวมทั้งจะมีการทำ New financial Landscape มีการหารือรับฟังกับผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และภาคการเงินจะต้องทรานฟอร์มธุรกิจอีก เพื่อตอบโจทย์ New Chapter ของเศรษฐกิจไทยให้ได้