กอบศักดิ์ แนะไทยเตรียมรับมือมรสุมลูกใหม่ ดันเครื่องยนต์อื่นแทนส่งออก

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

“ดร.กอบศักดิ์” ชี้ไทยเตรียมรับมือเข้าสู่มรสุมลูกใหม่ “ตลาดการเงินโลกผันผวน-วิกฤตพลังงาน-เงินเฟ้อสูง” แนะหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ หลังส่งออกแผ่ว หนุนเปิดประเทศรับท่องเที่ยว

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “New Chapter เศรษฐกิจไทย” ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจ-โอกาส-ความท้าทายใหม่” ว่า ตอนนี้ไทยกำลังเดินเข้าสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจ หลังจากที่อยู่ในอุโมงค์วิกฤตโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยไทยกำลังเข้าสู่ความท้าทาย และเผชิญความผันผวนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

โดยหลังจากนี้จะมี 7 เรื่องที่ต้องไทยเจอ คือ 1.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ที่จะรุนแรงและลุกลามออกไป และความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตร (แซงก์ชั่น) 2.วิกฤตพลังงานที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันค้างอยู่ในระดับสูง 3.วิกฤตอาหารโลก เนื่องจากรัสเซียและเบลารุสผลิตปุ๋ยมีสัดส่วน 40% ทำให้หลายประเทศตัดสินใจไม่ส่งออกอาหาร โดยทั้ง 3 ข้อนี้เป็นปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสิ้น

และ 4.การจัดการปัญหาเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะส่งผลต่อมายัง 5.ความผันผวนของตลาดการเงินโลก 6.เศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐ โดยนักธุรกิจมากกว่า 68% คิดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 เนื่องจากที่ผ่านมาเฟดขึ้นดอกเบี้ยและไม่มี Recession ในอดีตพบว่าประมาณ 70% เฟดผิดพลาด โดยขึ้นดอกเบี้ย 12 ครั้ง แต่สามารถทำให้เศรษฐกิจลงแบบ Soft Landing ได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น

สุดท้าย 7.วิกฤตเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เช่น ศรีลังกา และเนปาล ซึ่งเฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งยังเกิดปัญหาขนาดนี้ จึงต้องจับตาใกล้ชิด รวมถึงประเทศจีนที่มีปัญหาภายในจากภาคอสังหาริมทรัพย์ และการปิดเมือง

ดังนั้น จากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดทำให้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าไม่ง่าย โดยไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือกับมรสุมลูกใหม่ที่กำลังจะก่อตัวขึ้น ซึ่งไทยจะต้องหาเครื่องยนต์ใหม่ (Enging) เพราะการส่งออกจะแผ่วลงไปมากกว่าครึ่ง ไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เศรษฐกิจใหม่ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของจีดีพี โดยจะต้องเร่งเดินหน้าเปิดเมือง เพื่อฟื้นการท่องเที่ยวให้ได้

“เราต้องเตรียมการวันนี้เพื่อเผชิญกับความผันผวนในระยะข้างหน้าในช่วง 2-3 ปี เพื่อจะได้เข้าสู่ Next Chapter เพราะโลกจะเปลี่ยนแปลงขึ้นเรื่อย ๆ และเปิดโอกาสมากมาย เราจึงต้องหยิบฉวยโอกาส โดยเราจะต้องจัดการเรื่องการคลัง ให้เข้าสู่จุดสมดุล โดยคิดว่าคนละครึ่ง และไทยเที่ยวไทยไม่จำเป็นแล้ว”