เมดพาร์ค ชู Safety Net ลดต้นทุนการแพทย์ ดันไทยสู่เมดิคัลฮับ

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช
นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช

หมอพงษ์พัฒน์ รพ.เมดพาร์ค แนะปรับเกณฑ์โครงสร้างบัตรทอง สร้างวัฒนธรรมพึ่งพาตัวเอง พร้อมเน้นบริหารจัดการ “Safety Net” ลดต้นทุนนำเข้า เพิ่มประสิทธิภาพสาธารณสุขไทย เดินหน้าเมดิคัลฮับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงพยาบาลเอกชน เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากว่า 2 ปี หลัก ๆ เป็นผลจากมาตรการต่าง ๆ ทำให้ลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติลดลง ทำให้ต้องปรับตัวหันมาตรวจหาเชื้อและรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเพื่อหารายได้มาพยุงธุรกิจ

เช่นเดียวกับ “เมดพาร์ค” โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่เพิ่งเปิดให้บริการ เมื่อปลายปี 2563 ต้องเจอความท้าทายอย่างมาก เพราะเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ได้พลิกบทบาทไปร่วมมือกับภาครัฐเป็นหัวหอกในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยใช้อาคารสถานที่ของโรงพยาบาลเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนทั้งคนไทยและต่างชาติ ทำให้เมดพาร์ค เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช
นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (Med Park) กล่าวในงานสัมมนา “New Chapter เศรษฐกิจไทย” ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดมา 2 ปี ธุรกิจได้เรียนรู้หลายอย่าง ทุกประเทศกังวลเรื่องโควิด และทุ่มงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา ทำให้หนี้สินเกิดขึ้นรวมถึงในไทย ที่จำเป็นต้องใช้งบจำนวนมาก จะเห็นว่าประเทศไทยแก้ปัญหาโควิดได้ดี ทั้ง ๆ ที่มีรายได้ปานกลาง และจีดีพีเติบโตไม่มาก แต่นำงบมาใช้ในส่วนของเฮลท์แคร์ ให้ประชาชนรักษาฟรี

ขณะเดียวกันปัจจุบันงบประมาณนำมาใช้ในระบบสาธารณสุข คิดเป็น 20% ของภาษีทั้งหมด ถือเป็นภาระมาก แต่สิ่งที่เห็นตอนเกิดโควิด Safety Net ในไทยไม่มี ต้องซื้อจากต่างประเทศทั้งหมด ยกเว้นแรงงาน หมอ พยาบาล แต่ถ้าไม่สามารถดูแลบุคลากรเหล่านี้ได้ ก็ไม่สามารถดูแลคนไข้ได้ เนื่องจากไทยมีจำนวนแพทย์เพียง 5 คน ต่อประชากรหมื่นคน ขณะที่ต่างประเทศมีมากกว่า

จะเห็นว่าการต่อสู้โควิดของต่างประเทศกับไทยค่อนข้างแตกต่างกัน และถ้าเมื่อไหร่หมอติดเชื้อ ประเทศเราต้องล่มสลายในการต่อสู้โควิดแน่นอน ทำให้เห็นว่าช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ที่ยังไม่มียาและวัคซีน รัฐบาลต้องใช้วิธีล็อกดาวน์ เปิดๆปิด ๆ กิจกรรมต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ แม้จะบาดเจ็บและใช้งบประมาณค่อนข้างมาก

สิ่งสำคัญถ้าเกิดวิกฤตอีกครั้งจะรับมืออย่างไร เพราะเศรษฐกิจไม่ดี เงินก็ไม่มี สิ่งแรกคือต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์ แต่ไทยโชคดีที่ต่างจังหวัดมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวนมาก ทำให้บริหารจัดการได้ดี

นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญเรื่อง Safety Net ต้องลดต้นทุนเครื่องมือแพทย์ ต้องยอมรับว่าในไทยแม้กระทั่งน้ำเกลือเรายังผลิตไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เราส่งออกน้ำตาล ในช่วงโควิด ไทยต้องพึ่งพาบริษัทเครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ ที่อยู่สิงคโปร์ เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนมุมมอง เราต้องทำเพื่อให้มี Safety Net ให้ได้ ถึงจะสามารถสู้กับคนอื่นได้ในอนาคต

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ กล่าวต่อถึงระบบเฮลท์แคร์ของไทยในอนาคต มองว่า ปัจจุบันที่มีระบบหลักประกันสุขภาพ 30 บาท ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2546 จะเห็นว่าอัตราการใช้ สัดส่วนของคนจนสุด 13 ล้านคน มาใช้เงินของระบบบัตรทองเพียง 24-25% ที่เหลือเป็นการใช้ของผู้มีสิทธิบัตรทองที่เป็นคนระดับกลางและคนระดับบน สภาพนี้เป็นตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2546 จนถึงปัจจุบัน สมาชิกในระบบเพียง 50%

โดยระบบประกันสุขภาพใช้งบประมาณประเทศไป เกือบ 2 แสนล้าน ยังไม่รวมงบกระทรวงสาธารณสุข งบสวัสดิการข้าราชการอีกรวมๆกว่า 3-4 แสนล้านบาท ถ้านำคนที่มีรายได้ออกจากระบบเพื่อให้มีส่วนร่วมในการเติมเงินเข้าระบบ คือ เราต้องใส่เงินทุนเข้าไปในกองทุนด้วย อยากให้ศึกษาโมเดลของประเทศไต้หวัน คิดการรักษาตามจริง ที่ไม่ต้องรักษาฟรีทุกคน (แบบมีเงื่อนไข)

ก่อนหน้านี้คนมองเป็นแค่เรื่องสวัสดิการ แต่มีผลต่อการกดดันทำให้ระบบเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้คือ New Chapter ประเทศไทย ต้องทำให้คนไทยเป็นคนขยัน พึ่งพาตัวเอง และมีเงินออมได้ รวมไปถึงการแบ่งงานระบบสาธารณสุข ระหว่างภาครัฐกับเอกชน ต้องจัดระบบให้ชัดเจน ที่ผ่านมาไทยพูดถึงเมดิคัลฮับ มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ BOI ยังไม่เคยออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนในเรื่องเมดิคัลฮับจนถึงวันนี้ เพราะทุกครั้งที่เราทำไม่มีการส่งเสริม และยังไม่มีกฎหมายสนับสนุน จึงอยากให้ส่งเสริมด้านนี้

อีกด้านหนึ่ง ไทยมีรายได้จากเมดิคัลฮับ ประมาณ 4.3 พันล้านเหรียญ หรือประมาณแสนล้าน สัดส่วนเกินครึ่งเป็นของเฮลท์แคร์ โดยสิงคโปร์มีรายได้เกือบเท่าไทย แต่มีคนไข้ดูแลเพียง 8 แสนคน ขณะที่ไทยมีคนไข้ดูแล 2-3 ล้านคน หมายความว่ารายได้ต่อหัวน้อยกว่าสิงคโปร์ 3-4 เท่า ซึ่งผู้ป่วยโรคซับซ้อนส่วนใหญ่ไปรักษาที่สิงคโปร์ เพราะรัฐบาลสนับสนุนเมดิคัลฮับ ส่วนประเทศไทย BOI ยังไม่ให้เลย ถามว่าไดเร็กชั่นเราคืออะไร เราไม่มี นั่นเป็นที่มาของโรงพยาบาลเมดพาร์ค

สำหรับเมดพาร์คเปิดขึ้นมาเป้าหมายเพื่อรักษาโรคยาก ซับซ้อน เริ่มให้บริการเมื่อตุลาคม 2563 โดยต้องการย้ายเซ็นเตอร์การรักษาพยาบาลจากสิงคโปร์มาอยู่ในไทยให้ได้ โดยเตรียมห้องไอซียู 30% เพื่อรองรับการรักษา เพราะเราจะแข่งกับสิงคโปร์ ควบคู่กับการจัดโครงการหลากหลาย อย่าง “โครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ” เพื่อรักษาบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งหมดเป็น New Chapter ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต