แบงก์ชาติปรับเงินเฟ้อปีนี้ 6.2% พุ่งสูงสุดไตรมาส 3

ดร.ปิติ ดิษยทัต
ดร.ปิติ ดิษยทัต

ธปท.ปรับประมาณการเงินเฟ้อปีนี้เป็น 6.2% จาก 4.9% และปี 66 จาก 1.7% เป็น 2.5% เผยเงินเฟ้อเร่งตัวจากอุปทาน-ราคาพลังงาน พบมีการส่งผ่านต้นทุนขยายวง หวั่นกระทบภาคประชาชน-ตลาดแรงงาน ประเมินจุดพีกไตรมาส 3/65 ก่อนทยอยปรับลดลง

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ดร.ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ จะเห็นว่าตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ค. อยู่ที่ 7.1% ออกมาสูงกว่าคาด กนง.จึงมีการปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จาก 4.9% เป็น 6.2% และปี 2566 จาก 1.7% เป็น 2.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.2% และ 2.0% จาก 2.0% และ 1.7% ตามลำดับ

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาจากอุปทานและราคาพลังงาน ซึ่งสูงกว่าคาดและมีแนวโน้มทอดยาว จึงเป็นความเสี่ยงด้านสูงที่ชัดขึ้น โดย กนง.ได้พิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคา พบว่าช่วงหลังมีการปรับเพิ่มขึ้นของราคาที่ขยายวงมากขึ้น และปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีตในแง่สินค้าในตะกร้าใกล้เคียงในปี 2548 และ 2550 และการเปลี่ยนแปลงเดือนต่อเดือนมีการเพิ่มขึ้นไม่ เห็นว่ามีความต่อเนื่องของการการปรับเพิ่มขึ้นของสินค้า แต่กระจุกตัวในหมวดอาหาร เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปทานจะทยอยปรับลดลงในปี 2566

อย่างไรก็ดี หากดูแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันที่ผันผวนและควบคุมได้ยาก กนง.จึงมีการปรับประมาณการสมมติฐานน้ำมันดิบดูไบปีนี้จาก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในปี 2566 ปรับจาก 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นการยกขึ้นประมาณ 5-15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โดยอัตราเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุดของปีนี้ แต่คาดว่าจุดพีกจะอยู่ที่ไตรมาสที่ 3/2565 แต่ตัวเลขไม่ถึง 2 หลัก และหลังจากนั้นจะทยอยปรับลดลงตามการผลิตน้ำมันที่คาดว่าจะมีมากขึ้นตามตลาดโลก ซึ่งมองว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2566 และทยอยลดลง โดยทั้งปีจะอยู่ภายใต้กรอบ

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงในด้าน Up side คือ ประมาณการได้ยากและควบคุมได้ยาก และจะมีแฟคเตอร์เรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเข้ามาเร็วขึ้นภายในไตรมาสที่ 4/2565 แต่ไม่เยอะมาก และปี 2566 จะปรับสูงขึ้น

“สตอรี่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขับเคลื่อนมาจากปัจจัยอุปทานและราคาพลังงาน แต่สูงกว่าคาดและทอดยาวมากขึ้น แต่สิ่งที่คณะกรรมการฯให้ความสำคัญและจับตาใกล้ชิด คือ เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ภายในกรอบนโยบายการเงิน และยังไม่มีประเด็นในส่วนของคาดการณ์ปานกลาง แต่เงินเฟ้อระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นตามข้อมูลจริง”

ดร.ปิติ กล่าวอีกว่า จากการทำประมาณการบนสมมติฐานของ ธปท. พบว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน โดยรวมก็จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนประมาณ 850 บาทต่อเดือน หรือ 3.6% ของรายได้ แต่สมมติ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1% ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ 120 บาทต่อเดือน หรือ 0.5% ของรายได้ ซึ่งต่างกันประมาณ 7-8 เท่า

ดังนั้น ตัวเลขนี้สำคัญ เพราะสิ่งที่กนง.เป็นห่วงมากที่สุด คือการที่เงินเฟ้อสูงขึ้น และยืนอยู่ในระดับที่สูง ยิ่งอยู่สูงนานเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายนานเท่านั้น หากขึ้นดอกเบี้ย แม้จะเพิ่มภาระขึ้นเล็กน้อย แต่ทำให้เงินเฟ้อในอนาคตกลับลงมา และทำให้เงินเฟ้อไม่อยู่นาน ก็เป็นสิ่งที่น่าจะคุ้มกับการดูแลภาระของประชาชน

“อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะทำให้ กนง.ถอนคันเร่ง จะดูเงินเฟ้อในระยะปานกลาง เพราะหากนโยบายการเงินอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน จะเป็นการเสริมไฟเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะกระทบต่อประชาชนผู้ประกอบการ และตลาดแรงงาน จึงจำเป็นต้องถอนคันเร่งนโยบายการเงินเพื่อความยั่งยืน”