“ดร.กอบศักดิ์” จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องส่งต่อวิกฤต “EM Crisis”

กอบศักดิ์

“ดร.กอบศักดิ์” ชี้ จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ผลพวงสู่วิกฤตรอบใหม่ ระบุ 2-3 ปีรับมือวิกฤตตลาดเกิดใหม่-หนี้ท่วม ก่อนกลับสู่วังวนกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ คาดธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งสู่เป้าหมาย 1.25%

วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน”โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2565 Next chapter for wealth : เปิดโลกสร้างความมั่งคั่งสู่ความมั่นคง”

ภายใต้หัวข้อ “Economic Turbulence 2022 เศรษฐกิจ วิกฤตซ้อนวิกฤตต้องรับมืออย่างไร” ว่า คำว่า “วิกฤต” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติมีขึ้นและลง และทุกครั้งที่เกิดขึ้นจะไม่เหมือนกัน มีทั้งที่ใช้เวลาสั้นและยาวแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันตอนนี้เราอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน “Transition” ที่กำลังออกจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อเข้าสู่อีกวิกฤต ซึ่งเป็นวิกฤตที่เกิดจากผลพวงในการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยตอนนี้เราอยู่ในช่วงต้นของวิกฤตใหม่

“วิกฤตรอบนี้เกิดจากเฟดพอสมควร เพราะสภาพคล่องที่ใส่ไปในระบบ 5 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเตรียมไว้ต่อสู้กับโควิด-19 เพราะคิดว่าจะแรง จึงอัดยาเต็มที่ แต่ปรากฎไม่แรงอย่างที่คิด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นผลพวงจากยาที่เตรียมไว้ล้วนๆ จึงนำมาสู้วิกฤตรอบใหม่”

ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีหลังจากนี้จะเห็นสถานการณ์ค่อนข้างวุ่นวาย และตลาดการเงินจะผันผวน โดยวิกฤตครั้งนี้จะแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงแรก นักลงทุนเริ่มหนีตาย ซึ่งเราเห็นสัญญาณตั้งแต่ต้นปีที่มีการเร่งเทขายสินทรัพย์

ช่วงสอง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดผันผวนทุก 6 สัปดาห์หลังเฟดส่งสัญญาณ ซึ่งหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ เพื่อให้เงินเฟ้อลงมาอยู่ที่ระดับ 2% คาดว่าจะใช้เวลาไปอีกอย่างน้อย 1 ปี โดยเฟดระบุว่าดอกเบี้ยจะไปอยู่ที่ 3.8% ภายในปลายปี 2566 จากปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 9% ซึ่งหากย้อนไปดูในอดีตเงินเฟ้ออยู่ที่ 3-4% แต่ดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 5-6%

ดังนั้น ผลพวงจากการปรับดอกเบี้ยของเฟดขึ้นไปต่อเนื่อง จะเข้าสู่ช่วงที่สาม โดยสิ่งที่เกิดขึ้น คือ วิกฤตในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Crisis) ซึ่งเกิดขึ้นกับประเทศศรีลังกาแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากราคาพลังงาน และ อาหารเพิ่มขึ้น  โดยปัญหาเริ่มเห็นสัญญาณในอีกหลายประเทศ เช่น สปป.ลาว เมียนมา อาร์เจนตินา กานา ซิมบับเว และอียิปต์ เป็นตัน

โดยปัญหาจะเกิดขึ้นกับประเทศขนาดเล็กที่มีการกู้เงินเยอะเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19  จากก่อนหน้านี้เราอยู่ในดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ประเทศที่กู้เงินเยอะจะเข่าอ่อน โดยสถานการณ์เหล่านี้จะเริ่มเห็นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าแน่นอน และช่วงสี่ ภายหลังจากเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) สุดท้าย เฟดจะเข้าสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ

“เฟดต่อสู้กับเงินเฟ้อ  นำมาสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ย  โดยยุคดอกเบี้ยต่ำได้หมดไปแล้ว เพราะเงินเฟ้อขึ้นไปถึง 9% ซึ่งหากเงินเฟ้อไม่ลงมา เฟดก็ไม่พอใจและปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอีก ซึ่งคนที่กู้มาเยอะในช่วงโควิดจะเข่าอ่อน เพราะหนี้จะเพิ่มขึ้น และเราจะเริ่มเห็นในประเทศอื่น นอกจากศรีลังกา  จะเริ่มกลายเป็นหนี้เสียและเริ่มลามกระจายไปในหลายๆ จุด”

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า ช่วงก่อนโควิด-13 ประมาณ 3% แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจจะขยายตัว การบริโภคและการท่องเที่ยวเริ่มฟื้น แต่ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้การส่งออกที่เคยขยายตัวได้ 20% จะเหลือเพียง 10% และการบริโภคจะลดลง ดังนั้น ไทยจะต้องสร้างแรงส่งเศรษฐกิจให้เพียงพอรองรับความผันผวนข้างหน้า เช่น ภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 10-15% ของจีดีพี โดยไทยมีเวลา 1 ปีเพื่อเตรียมตัว

ทั้งนี้ มองว่าปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% โดยปลายปีดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1.25% และธปท.จะรอดูตัวเลขเงินเฟ้อว่าจะอยู่ระดับใด โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2.58% ซึ่งมองว่าธปท.ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนขึ้นดอกเบี้ย เพราะราคาน้ำมันเริ่มทยอยปรับลดลง

ครึ่งปีหลังแบงก์ยังเผชิญความท้าทาย

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสถาบันการเงินในข่วงครึ่งหลังของปี 2565 ยังคงมีความท้าทาย และยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอีกพอสมควร เพื่อปรับตัวรองรับกับความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital asset) ที่ปัจจุบันมีความกังวลว่าจะลุกลามไปถึงภาคการเงิน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 มองว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังพึ่งพาการท่องเที่ยว และ การส่งออก ซึ่งตอนนี้เครื่องยนต์ดังกล่าวยังไปได้ดี แต่สิ่งที่ต้องติดตาม คือ หนี้ที่ปรับโครงสร้างในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 จะกลับมาปกติได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

โดยในส่วนของธนาคารกรุงเทพยังมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง เมื่อเทียบจากไตรมาส 2/65 และ งวดครึ่งปี 65 ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น และการขยายธุรกิจยังต้องมีความระมัดระวัง

สำหรับธุรกิจในเครือของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น บริษัทหลักทรัพน์ (บล.) บริษัทหลักทรัพ์จัดการกองทุน (บลจ.) ประกันชีวิต และประกันภัย ยังสร้างรายได้ให้กับธนาคารมาอย่างต่อเนื่อง และมีการสนับสนุนในทุกด้านเพื่อเสนอการบริการ และ ผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจกับลูกค้า แต่ธนาคารก็ไม่ได้ปิดโอกาสในการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติม เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่สามารถทำงานด้วยตนเองได้ทุกอย่าง


“ประเด็นเรื่องที่เราเฝ้าดู คือ หนี้หลายอย่างที่ปรับโครงสร้างอยู่ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเราก็มองอยู่ แต่จะเป็นประเด็นเรื่องของเทคโนโลยีที่อยู่ในนั้นมากกว่า เช่น บล็อกเชน แต่หลายเรื่องเป็นอะไรที่ซับซ้อนเหมือนกัน”