นายก บลจ. จับทิศลงทุน ครึ่งปีหลัง “เอเชีย” ฟื้น-เงินเฟ้อพีก

ชวินดา หาญรัตนกูล
ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)
สัมภาษณ์

ครึ่งทางแรกปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดกองทุนรวมได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมการลงทุนอื่น ๆ มองไปข้างหน้าในครึ่งปีหลัง หมอกควันความกังวลยังคงปกคลุมอยู่ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าควรลงทุนอย่างไร เพื่อหาคำตอบ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ชวินดา หาญรัตนกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) มาฉายภาพแนวโน้มข้างหน้า พร้อมคำแนะนำการลงทุน

ตลาดผันผวนฉุด AUM

“ชวินดา” เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกกองทุนรวมไทยติดลบค่อนข้างมาก ทั้งตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) และตลาดทุน (หุ้น) เรียกได้ว่า เป็นการติดลบพร้อมกัน “2 asset class” ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดขึ้น โดยผลกระทบมาจากเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงปัญหาสงคราม ซึ่งเป็น 3 ปัจจัยหลัก ที่ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมมีมูลค่าทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ลดลงในรอบหลายปี

“ตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางปี กองทุนติดลบไปประมาณ 6% โดยตราสารหนี้เป็นกลุ่มที่โดนผลกระทบโดยตรงและหนักที่สุด ดูได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐ อายุ 30 ปี จากต้นปีอยู่ที่ 1.9% ก็ปรับเพิ่มขึ้นมาถึงระดับ 3.3% ซึ่งการที่บอนด์ยีลด์เพิ่มขึ้น หมายถึงราคาบอนด์ที่ตกลง แต่ก็ยังมีตัวที่เห็นว่ายังพอเติบโตได้ แต่ก็ค่อนข้างที่จะผันผวนอย่าง กลุ่มน้ำมัน, พลังงาน และทองคำ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน แม้ผลตอบแทนยังคงบวกอยู่ แต่ก็ลดลงบ้างแล้ว”

“เงินเฟ้อ” ใกล้พีก

สำหรับแนวโน้มในครึ่งปีหลัง “ชวินดา” เชื่อว่าเงินเฟ้อเดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว แต่คงยังไม่จบ โดยน่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุด (พีก) ขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ น่าจะเป็นช่วงสิ้นปีนี้ที่จะเห็นการพีกของเงินเฟ้อสหรัฐ อย่างไรก็ดี ต้องอยู่บนสมมุติฐานว่าสงครามนิ่งแล้ว ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะขึ้นไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2566

“ครึ่งปีหลังปัจจัยที่ค่อนข้างรุนแรง ที่เกิดในช่วงครึ่งปีแรก ตลาดจะรับรู้ไปมากพอสมควรแล้ว แล้วนักลงทุนก็ตอบรับกับเรื่องนี้ไปค่อนข้างหนัก ดังนั้น ผลกระทบแม้จะยังมีอยู่ แต่ในเชิงความรุนแรง น่าจะลดน้อยลง ซึ่งตลาดโดยภาพรวมอาจจะอยู่ในสภาวะที่นิ่งขึ้น ผันผวนน้อยลง ดังนั้นในครึ่งปีหลัง อาจจะใช้กลยุทธ์ buy on dip และใช้จังหวะในการเข้าลงทุนมากขึ้นได้”

ในส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทย “ชวินดา” เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน เพราะช่องว่างดอกเบี้ยไทยอยู่ห่างจากสหรัฐค่อนข้างมาก ซึ่งอาจส่งผลให้กระแสเงินทุน (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกได้

“แบงก์ชาติน่าจะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ที่ 1% แล้วคงประเมิน 2 ข้อหลัก คือ ฟันด์โฟลว์และเงินเฟ้อ ซึ่งจริง ๆ คิดว่าปีนี้ยังไงแบงก์ชาติก็ยังปิดช่องว่างไม่สนิท เพราะถ้าจะปิดให้สนิทเลย อาจกระเทือนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เพราะปีนี้เราน่าจะได้เห็นเงินเฟ้อที่ดอกเบี้ยของเเบงก์ชาติไม่สามารถวิ่งตามทันได้แน่นอน”

เทรนด์ครึ่งปีหลังลงทุน “บอนด์”

ในมุมการลงทุนนั้น “ชวินดา” บอกว่า ด้วยมุมมองที่ว่าดอกเบี้ย และเงินเฟ้อ มาเกินกว่าครึ่งทางแล้ว ดังนั้น ชอตแรกอาจจะเริ่มทยอยกลับเข้าลงทุนในตราสารหนี้ก่อน เนื่องจากปัจจุบันตลาดเริ่มกังวลเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น และการปรับขึ้นมาอย่างรุนแรงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ในช่วงก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่จะปรับขึ้นต่อมากกว่านี้น่าจะไม่รุนแรง เพราะหากปรับขึ้นไปมากกว่านี้อาจจะทำให้เศรษฐกิจช็อก และเป็นความเสี่ยงนำไปสู่เศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นจริง

“ถ้ามองแค่ประเทศไทย พวกบอนด์ระยะสั้นตอนนี้เดินทางถึงจุดที่น่าสนใจ เพราะว่ามองไปที่ running yield เพิ่มขึ้นมาเกิน 1% แล้ว ดังนั้นเป็นจุดที่น่าสนใจที่จะเอาเงินมาพักสั้น ๆ แล้วค่อยไปลงทุนในส่วนอื่น ๆ ขณะที่การลงทุนในหุ้นยังคงมีความผันผวนมากกว่า เพราะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากเงินเฟ้อ และตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่อาจจะกระทบกระเทือนจิตใจนักลงทุนอยู่ จึงมองว่าบอนด์จะน่าสนใจมากกว่าการลงทุนในหุ้น สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้”

ตลาด “เอเชีย” โซนปลอดภัย

โดยตลาดที่นักลงทุนสามารถทยอยกลับเข้ามาลงทุนได้ เริ่มจากฝั่งเอเชียก่อน เนื่องจากเอเชียเริ่มเดินทางคนละเส้นทางกับฝั่งสหรัฐ อย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ไทย หรือแม้กระทั่งอินโดนีเซีย ก็ยังเป็นตลาดที่น่าลงทุนมากกว่าสหรัฐ หรือยุโรป

“อย่างไทยเราเองก็มีปัจจัยพิเศษจากการท่องเที่ยวที่เริ่มทยอยฟื้น และไม่ใช่แค่ไทยแต่เป็นในโซนเอเชียเกือบทั้งหมด อย่างอินโดนีเซียเป็นประเทศเดียวในปัจจุบันที่ยังรักษาการเติบโตของตลาดหุ้นได้อยู่”

ขณะที่จีนก็กลับมาเปิดประเทศและเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจีนกับอินเดียเป็นประเทศที่ยังเดินหน้าต่อได้ในปัจจุบัน เพราะว่าเป็นประเทศที่ไม่เชื่อฟังเรื่องการคว่ำบาตร ทำให้ผลกระทบที่หลาย ๆ ประเทศเจอไม่เกิดขึ้นกับ 2 ประเทศนี้ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน ไม่ได้ทำตามสหรัฐ คือดำเนินนโยบายที่ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ย

“ฉะนั้นถ้าภาพโดยส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ แนะนำเลือกกระจายการลงทุนให้ออกจากโซนที่ยังไม่มั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ หรือยุโรป และหันมาโฟกัสในเอเชียเป็นหลักมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง” นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวในตอนท้าย