สัญญาณแบงก์ไทยไล่ขายธุรกิจ บลจ. จับตาเข้าสู่ยุค “ควบรวมกิจการ”

ธนาคารพาณิชย์ ATM

กลายเป็นกระแสข่าวใหญ่ ที่น่าติดตามในช่วงเวลานี้ หลังสำนักข่าว Bloomberg ตีข่าวสองสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย อย่าง บมจ. เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) และ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาขายธุรกิจ บลจ. ซึ่งมีขนาดไซซ์ราว ๆ 3-5 หมื่นล้านบาท

ถ้าพิจารณาจากสัญญาณตรงนี้ สะท้อนถึงแบงก์ไทยกำลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจกองทุนรวม อาจเป็นไปได้ว่าธุรกิจกองทุนรวมในไทย หรือธุรกิจ บลจ.ไทย กำลังจะถึงจุดอิ่มตัวแล้วหรือไม่ ?

วันนี้ Prachachat Wealth ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่จะมาฉายภาพรวมการแข่งขันธุรกิจกองทุนรวมในประเทศไทย

รวมถึงมุมมองในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ และความน่าสนใจของดีลที่กำลังจะเกิดขึ้น มีโอกาสจะเห็นการเทกโอเวอร์ การควบรวมกิจการ หรือการเป็นพาร์ตเนอร์ ระหว่าง บลจ.ไทย กับ บลจ.ต่างชาติ หรือไม่ ไปร่วมรับชมกันเลย

Q: แบงก์ไทยไล่ขาย-ลดสัดส่วนบริษัทย่อยทำธุรกิจกองทุนรวม หันไปลงทุนบริษัทเทคคอมปะนี มองการแข่งขันธุรกิจกองทุนรวมในไทย ถึงจุดอิ่มตัวแล้วหรือยัง

ดร.จิติพล กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจกองทุน ณ ปัจจุบัน ต้องบอกว่าโอกาสในการเติบโตของเรามันจะไปอยู่ในการลงทุนต่างประเทศเป็นหลัก จะสังเกตเห็นว่า บลจ.ไทยในช่วงหลัง ๆ กองทุนที่ขายได้ดี ก็มักเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนต่างประเทศ จะสังเกตเห็นว่าในฝั่งของธนาคารอาจจะเริ่มมองเห็นภาพว่า จริง ๆ แล้วธุรกิจในฝั่งกองทุนอาจจะเป็นธุรกิจที่จำเป็นจะต้องเป็นธุรกิจในลักษณะที่เป็น Regional หรือเป็นธุรกิจ Global เป็นหลัก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงพยายามจัดสัดส่วนในการถือครองธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ออกไป

อีกจุดหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นส่วนสำคัญก็คือ แบงก์ก็ยังมองว่าตัวเองสามารถขายกองทุนได้แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ บลจ.แล้ว อย่างเช่น โมเดลที่ ณ ปัจจุบันธนาคารทำแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับดีจากในฝั่งของผู้บริโภคก็คือ มีการเป็น Open Architects ก็คือไม่ใช่ขายเฉพาะของ บลจ.ของตัวเองอย่างเดียว มีขายของ บลจ.อื่นด้วย เพราะฉะนั้นในฝั่งของธนาคารเราก็จะเห็นเทรนด์นี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ในขณะเดียวกัน สำหรับในฝั่งของต่างชาติ โอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ต่อให้เป็น บลจ.ยักษ์ใหญ่ของโลกจริง ๆ ก็ถือว่าค่อนข้างยาก เพราะมีเรื่องของกฎระเบียบ มีเรื่องการกำกับควบคุมที่เรียกว่าแตกต่าง

เพราะฉะนั้น อาจเป็นการดีกว่าก็ได้ที่ในส่วนของธนาคารก็ดำเนินธุรกิจที่เป็นลักษณะช่องทางของบริการทางการเงิน ส่วนของ บลจ.ก็เข้าไปควบรวมกับ บลจ.ยักษ์ใหญ่ระดับโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริการ ด้านการลงทุนครับ

 

Q: ปัจจุบันถ้าเราดูส่วนแบ่งตลาด ผู้เล่นหลัก ๆ เป็นใคร

ดร.จิติพล กล่าวต่อว่า ถ้าเกิดเรามองในเชิงธุรกิจโลกจะสังเกตเห็นว่าผู้บริหารเงินหลัก ๆ จะอยู่ในฝั่งของอเมริกาเป็นหลัก ประมาณ 50% ก็จะเป็นบริษัท Asset Management ยักษ์ใหญ่ในฝั่งของอเมริกา ต่อมาเป็นฝั่งของยุโรป จะมีสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ประมาณกว่า 30% และที่เหลือจะเป็นฝั่งของเอเชีย

ในประเทศไทยจะเรียกว่าค่อนข้างแตกต่าง เพราะว่าเรามีกฎที่ค่อนข้างเข้มงวด เพราะฉะนั้นบริษัทที่ Asset Management ของเราส่วนใหญ่ประมาณ 90% ก็จะเป็นบริษัทที่ถือโดยคนไทย และก็จะมีบริษัทแม่ที่เป็นธนาคารใหญ่ เรียกว่าเป็น  Legacy ก่อนหน้านี้ที่เคยได้มาจากช่วงอุตสาหกรรมประมาณ 10 ปีก่อน

แต่ถ้าเกิดเรามองไปในอนาคต จุดหนึ่งที่เราจะเห็นคือ กลุ่ม Asset Management ที่มีแม่เป็นธนาคาร จุดเด่นของเขาคือ จะขายพวกตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่เป็น Mixed Asset ได้ดี เพราะเขามีช่องทางการขายที่ตรงไปตรงมา และก็มีลูกค้าที่เป็นฐานเงินฝาก

ส่วนกลุ่มที่เป็น Asset Management ในช่วงหลัง ๆ  ก็จะมีความสามารถด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับ Equity หรือว่าหุ้นที่เก่งกว่า ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดใครที่สามารถพาร์ตเนอร์ได้กับ บลจ.ยักษ์ใหญ่ และสร้างผลตอบแทนได้ดี ก็จะสามารถสร้าง Asset Under Management หรือว่าเงินลงทุนก็จะย้ายไปอยู่กับ บลจ.เหล่านั้นได้เยอะขึ้น

อย่างที่เราเห็นค่อนข้างชัดเจนเลยในช่วงหลัง ๆ ก็คือ เราจะเห็นว่ามีธนาคารยักษ์ใหญ่ของเรา 2 ที่ที่พยายามจะลดสัดส่วนของการถือ บลจ. แต่ถ้าเกิดเรามาดู Lead ข้างใต้ของ บลจ.ไทย จะสังเกตเห็นกลุ่มที่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือกลุ่มขนาดกลาง จะมีการควบรวมกัน และจะมี บลจ.ต่างประเทศที่เข้ามาซื้อ และพยายามจะควบรวมอีก เพราะฉะนั้นถ้ามองในเชิงของโอกาสก็จะมีความแตกต่างกัน

กลุ่มใหญ่ก็อาจจะเกิดมาเพื่อขายโปรดักต์ที่ความเสี่ยงต่ำ ส่วนกลุ่มเล็กก็จะเกิดมาเพื่อโปรดักต์ที่มีความ sophisticated หรือมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นครับ

 

Q: ประเมิน 2 ดีลที่เป็นกระแสข่าว มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไหมในอนาคต

ดร.จิติพล กล่าวอีกว่า จริง ๆ ผมเชื่อว่าโอกาสเกิดขึ้นมีแน่นอนอยู่แล้วนะครับ แต่ว่าถ้ามองในมุมของความคุ้มค่า อาจจะต้องคิดเยอะ ๆ นะครับ เพราะว่าในมุมของตลาดไทย สิ่งที่ บลจ.ต่างประเทศเข้ามาและสามารถซื้อได้ก็คือ เป็น AUM ของกลุ่มนักลงทุนไทยอย่างเดียวเลย เพราะว่า บลจ.ไทยไม่ได้มีการลงทุนในต่างประเทศมากมายนัก

และเงินส่วนใหญ่ถ้าเกิดเราเห็นสินทรัพย์ใต้การบริหารอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่เกินครึ่งก็เป็นสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ เพราะฉะนั้น ต่อให้เราซื้อมาก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถผันออกมาเป็นกำไรได้ทั้งหมด

แต่ถ้าเกิดมองดูในแง่ขนาดของ บลจ. ถ้าพูดกันในมุมของเรื่องช่องทางการขาย ยิ่ง บลจ.ที่มีขนาดใหญ่มาก ก็จะยิ่งสามารถออกโปรดักต์ได้ง่ายขึ้น และก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ก็จะยิ่งมีช่องทางในการขายได้เยอะ

นึกสภาพ บลจ.ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ณ ปัจจุบัน ในฝั่งของอเมริกา อย่างเช่น BlackRock หรือ J.P. Morgan ถ้าเกิดมีสาขาในไทย หรือมีความร่วมมือกันกับในไทย ก็อาจจะสามารถขายโปรดักต์เขาได้ง่ายขึ้น

เรามองอย่างนี้มากกว่า ว่าโอกาสที่จะขายทั้งหมดเลย เรียกว่ายังมีโอกาสที่ค่อนข้างน้อย แต่โอกาสที่จะเป็นความร่วมมือกันระหว่าง บลจ.ใหญ่ ๆ เข้ามาพาร์ตเนอร์กับในฝั่ง บลจ.ไทย ถือ 51:49% ตรงนี้ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ก็จะเป็นได้ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถ และเพิ่มโปรดักต์ให้กับ บลจ.ไทย ด้วยกันเอง ในขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถยืน Channel ในการขายในฝั่งของธนาคารได้ด้วย น่าจะเป็นโซลูชั่นที่ค่อนข้างเหมาะสมที่สุด

Landscape อุตสาหกรรมกองทุนรวมเปลี่ยน

Q: สะท้อนได้ไหมครับว่า อาจจะเป็นจุดเริ่มต้น Landscape อุตสาหกรรมกองทุนรวม ที่จะต้องเปลี่ยนไปเป็นแบบ Open Architecture

ดร.จิติพล กล่าวเสริมอีกว่า ถูกต้องครับ จุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และก็แบงก์กำลังเปลี่ยนไปก็คือ อย่างแรกเลย ในฝั่งของพอร์ตโฟลิโอที่ธนาคารมี จะสังเกตเห็นว่าสมัยก่อนเราก็จะมีกู้-ฝาก ซึ่ง ณ ปัจจุบันมันก็ยังทำธุรกิจได้ แต่ด้วยภาวะดอกเบี้ยที่อาจจะไม่ได้สูงมาก แล้วภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี NPL(หนี้เสีย) พุ่งขึ้นมา ก็ทำให้แบงก์จำเป็นต้องหาธุรกิจใหม่

ธุรกิจใหม่สมัยก่อนก็อาจจะมีในลักษณะของการขายประกัน ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็เรียกว่าเป็นธุรกิจที่อิ่มตัวไประดับหนึ่ง ธนาคารก็ไม่ได้เพิ่มเงินลงทุนเข้าไปตรงนั้นอีก ธุรกิจในส่วนของ Asset Management ก็เป็นธุรกิจที่จำเป็นจะต้องมี Global Expertise ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทางธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะไม่ได้มีขีดความสามารถมากนัก

ธุรกิจใหม่ ๆ ตอนนี้ก็จะเป็นธุรกิจทางด้านเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้ผมเชื่อว่าธนาคารมีจุดแข็ง 2 อย่างคือ 1.มีโอเปอเรชั่น หรือการบริหารจัดการที่สามารถแข็งแกร่งขึ้นได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จะมีแต้มต่อ ต่อให้เราไม่ขายเทคโนโลยีเอง แต่เราก็สามารถเอาเทคโนโลยีมาทำให้ธุรกิจเดิมดีขึ้นได้

2.ถ้าเกิดเราพัฒนาเทคโนโลยีออกมาเป็นเทคโนโลยีที่สามารถขายได้ ก็อาจจะเปลี่ยนบริษัทให้กลายเป็นเทคคอมปะนี และมีมูลค่าของบริษัทที่สูงขึ้นได้

นั่นคือเหตุผลหลักที่ทำไมในกลุ่มของธนาคารช่วงนี้ถึงมีการปรับพอร์ตโฟลิโอของตัวเองเรียกว่าหลากหลายอย่างที่เป็นกระแส มีทั้งธนาคารใหญ่หลายแห่งที่พยายามจะลดสัดส่วนในการถือครองบริษัท Asset Management และพยายามจะไปเพิ่มสัดส่วนในการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีมากขึ้น ก็จะเป็นเทรนด์ที่เราจะเห็นในช่วงอนาคตจากนี้เป็นต้นไปครับ