ปิดฉาก ศบค. ส่งไม้ต่อสาธารณสุข ชู 4 ยุทธศาสตร์ รับช่วงคุมโควิด-19

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

“หมอทวีศิลป์” แถลงปิดฉาก ศบค. ถาวร หลังยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั่วประเทศ ยุบหน่วยงานศบค. ทั้งหมด 10 ศูนย์ ส่งไม้ต่อให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลต่อหลัง 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หลังเปลี่ยนเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมยุทธศาสตร์ 4 ด้าน เผยหลังเปิดประเทศมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสะสมกว่า 5 ล้านคน โดยรายได้จากต่างชาติและคนไทยเกือบ 6.5 แสนล้าน เตือนระวัง จากนี้จนถึงปี 2566 ยังเกิดโควิดแบบ small wave เป็นช่วง ยังคงมาตรการ DMHTT สวมหน้ากากอนามัยต่อไป

วันที่ 23 กันยายน 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า สำหรับเนื้อหาสาระของการประชุมในวันนี้มีประมาณ 3-4ประเด็น

30 กันยายน 2565 สิ้นสุด ศบค.

ประเด็นแรกคือเรื่องของความเหมาะสมของการยยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในที่ประชุมได้รับทราบการรายงานจากเลขาฯสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมของโลกดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมถึงผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลง ปัจจุบันประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทางสังคมเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

แนวโน้มผู้ป่วยโควิดทั่วโลก

โดยกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปรับให้โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และได้จัดทำกรอบนโยบาย แนวปฏิบัติของภาครัฐและเอกชน ประชาชน ภายหลังจากโรคโควิด-19 ได้ปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผอ.ศบค.ได้วางแนวทางการดำเนินการต่อเนื่องกันมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาทุกอย่างก็เป็นไปตามการคาดการณ์ที่เกิดขึ้น

วันนี้มติที่ประชุมได้ให้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่เคยมีการลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร(คราวที่ 19) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีและครม.ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผลวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

“นั่นหมายความว่า เราไม่ได้ขยายระยะเวลาอีกแล้ว ก็จะสิ้นสุดกันในวันที่ 30 กันยายนนี้เป็นต้นไป ถือเป็นการสิ้นสุด ศบค.” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

เตือนปี 2565-2566 ยังมีผู้ป่วยใหม่แบบ small wave

สำหรับเหตุผลที่ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอยกเลิกเพราะอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตลดลง โดยวันนี้ ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 752 ราย ไม่ถึงพันราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตต่ำกว่า10 ราย โดยเสียชีวิต 9 คน ขณะที่แนวโน้มของทั่วโลกก็ลดลง

ส่วนอัตราการใช้เตียงลดน้อยเหลือแค่ 8.3% ลดลงจาก 10 .9% เมื่อเดือนกรกฎาคม เดือนสิงหาคมดลงเหลือ 15.8% จะเห็นได้ว่าอัตราการใช้เตียงลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายใหม่กับใส่ท่อช่วยหายใจ รวมทั้งผู้เสียชีวิตก็ลดลงต่ำกว่าเส้นคาดการณ์

สำหรับการคาดการณ์หลังจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการคาดการณ์ว่า หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น โดยผู้ป่วยรายใหม่ในปี 2565-2566 จะมี small wave หรือคลื่นลูกเล็กๆที่อาจจะไต่ขึ้นบ้างหรือลดลงบ้าง ซึ่งตรงนี้ต้องขอพลังพี่น้องประชาชน ยังมีความจำเป็น และขอความร่วมมือสำหรับมาตรการป้องกันส่วนบุคคล DMHTT อยู่ห่างกันไว้ ใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เพื่อทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลง และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งประชาชนสามารถให้ความร่วมไม้ร่วมมือกันได้

คาดการณ์สถานการณ์ผู้ป่วยโควิดใหม่หลัง post pandemic 2565

 

คาดการณ์สถานการณ์ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ หลัง post pandemic 2565

คาดการณ์ผู้เสียชีวิตหลัง หลัง post panfemic 2565

เปิดประเทศ โกยรายได้ท่องเที่ยวเกือบ 6.5 แสนล้าน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่นำเสนอชุดข้อมูลการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคของการท่องเที่ยวในประเทศไทยล่าสุดเพิ่มขึ้นมาเป็น 5,257,196 คน จากปี 2564 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 427,869 กว่า คน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -21 กันยายน 2565 มีรายได้จากนักท่องเที่ยวแล้ว 211,974 ล้านบาทแล้ว

“นี่คือสิ่งที่เราภาคภูมิใจ ถ้ามาดูด่านทางบกเราก็เปิดแล้ว ด่านทางอากาศเราก็เปิดแล้ว โดยประเทศที่มาท่องเที่ยวมากที่สุด คือ มาเลเซีย 6 แสนกว่าคน รองลงมาเป็นอินเดีย 5 แสนกว่าคน และสิงคโปร์มาเป็นอันดับสาม 2.85 แสนคน จะเห็นได้ว่าทางอากาศเข้ามาเยอะกว่าทางบก 80:20

รายได้จากการท่องเที่ยว

ส่วนโครงการไทยเที่ยวไทย ที่คนไทยเราเที่ยวกันเองก็สามารถช่วยให้มีรายได้เข้ามา 432,889 ล้านบาท ตอนนี้รวมรายได้ทั้งหมดจากการท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติแล้ว 600,000 กว่าล้านบาท โดยสัดส่วนคนไทยเที่ยวกันเอง 67% คาดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว 432,889 ล้านบาท ส่วนชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย 37% คิดเป็นรายได้ 211,974 ล้านบาท

รวมรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 21 กันยายน 2565 รวม 644,863 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะมีเพิ่มเข้ามามากขึ้น

รายได้จากการท่องเที่ยว

รายได้จากการท่องเที่ยว

ส่วนแผนปฏิบัติการ แผนการดำเนินงาน หลังจากไม่มีศบค. แล้ว แผนจะเป็นอย่างไร ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้มาดูแลในฐานะผู้กำกับกำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข ก็จะ จะใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งในแผนต่างๆเหล่านี้ก็ได้เห็นชอบแผนดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งตอนนี้เราอยู่ที่กรอบสีเขียว อัตราการป่วยตายน้อยกว่า 0.1% อัตราการครองเตียง อยู่ที่ 11-24%

“ต้องเน้นย้ำว่าเตียงที่อยู่ในระบบสาธารณสุขมีเป็นแสนเตียง เพราะฉนั้นตอนนี้ยังถือว่าระบบสาธารณสุขของไทยเรารองรับได้ และหากมีการเพิ่มขึ้นก็จะมีเกณฑ์ มีมาตรวัตรต่างๆ โดยมีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะรับไปดูแล”

กางยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ส่งไม้ต่อให้สธ.ดูแล

ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่จะดูแลหลังจากนี้ไปจะประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรค
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
  • ยุทธศษสตร์ที่ 3 ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลสารสนเทศ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคมและเศรษฐกิจ (ดูตารางประกอบ)

4 ยุทธศาสตร์ดูแลโรคโควิด-19 ในระยะต่อไปหลัง 1 ตุลาคม 2565

ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์จะมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาดูแลในช่วงที่เราปรับเปลี่ยนเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง รวมทั้งมีคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ รวมถึงคณะผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลเพิ่มเติมซึ่งเรามีคณะเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น เรื่องของวัคซีน ซึ่งจะไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชน เรื่องของการเฝ้าระวังเหตุการณ์ จะมีคณะอนุกรรมการต่างๆเหล่านี้เข้ามาดูแล เป็นต้น

โครงสร้างดำเนินงานในระยะสิ้นสุด พรก. ฉุกเฉินฯ

  • 1.คำแนะนำการใช้วัคซีน
    -คณะกรรมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค
  • 2.การจัดหาและกระจายวัคซีน
    -คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติฯภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
    -คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและแต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด 19
  • 3.การเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
    -คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับภูมิคุ้มกันโรค

นอกจากนี้ยังมีอีก 3 เรื่องที่สำคัญหลังจากนี้คือ

  • 1.เรื่องของแผนประชาสัมพันธ์ให้โรคโควิด-19 สู่ Post-Pandemic โดยกรมประชาสัมพัฯธ์
  • 2.ความก้าวหน้าในการวิจัยวัคซีนโควิด-19 จากทางกระทรวงอุดมศึกษาฯ
  • 3.การจัดทำจดหมายเหตุและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ในประเทศไทยโดยรมว.กระทรวงวัฒนธรรม

รวมถึงการประมวลผลสัมฤทธิ์ การปฏิบัติงานป้องกันในศูนย์โควิดต่างๆ ซึ่งมีเลขาฯสมช. เป็นผู้นำเสนอในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมก็ได้รับทราบ

เป้าหมายการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หลังเป็นโรคติดต่อเฝ้าะวัง

“ประวิตร” ขอบคุณทุกภาคส่วน ผ่านสถานการณ์ยุ่งยากมาได้

ประวิตรประชุมนัดสุดท้าย ศบค.

“สุดท้ายทางพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ขอบพระคุณส่วนของภาครัฐต่างๆ ในแผนปฏิบัติการต่างๆซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการถึง 10 ศูนย์ และศปก.ศบค. ก็ต้องขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ที่ได้ให้ความ ร่วมใจ ร่วมมือ ในการทำงาน และภาครัฐทางภาคส่วนก็ได้ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้เราได้ผ่านพ้นสถานการณ์ที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อนอย่างนี้ในระดับโลกและได้รับความชื่นชมในระดับโลก” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว และว่า

การเปลี่ยนผ่านในช่วงของการที่จะไปสู่การเป็นโรคเฝ้าระวัง ทางศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งดำเนินงานาตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านก็ได้วางแผนมา และทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่เกิดขึ้น ซึ่งทางพลเอกประวิตรก็ได้กล่าวขอบพระคุณในท่ประชุมในทุกๆอย่างที่เกิดขึ้น และขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีการดำเนินงานในงานต่างๆตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ให้เกิดความเรียบร้อยต่อไป

“ผมเองในนามของโฆษก ศบค.ต้องขอกราบขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงในการทำงานที่ผ่านมา และขอให้พวกเราได้ดูแลสุขภาพเพื่อที่จะได้มีชีวิตกลับไปอยู่ในในภาคปกติอย่างที่เราเคยเป็นมา” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในตอนท้าย