ศูนย์จีโนมฯ เผย โลกกังวลโควิดดื้อยา โอมิครอน CH.1.1 เพิ่มขึ้นในไทย

สถานการณ์โควิด20กันยา

ศูนย์จีโนมฯ รามาฯ เผย ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกังวลโควิด-19 ดื้อยา ขณะที่ การระบาดในประเทศไทย โอมิครอนสายพันธุ์ BA.5  เริ่มลดจำนวนลง แต่รุ่นหลานอย่าง BA.2.75 และ CH.1.1 เพิ่มจำนวนเข้ามาแทนที่อย่างช้า ๆ

วันที่ 18 ธันวาคม 2565 เฟซบุ๊กของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่บทความลงบนเฟซบุ๊กถึงการป้องกันและรักษาโควิด-19 ตระกูลโอมิครอนที่ระบาดในประเทศไทยว่า

ตระกูลโอมิครอน BA.5*

จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมโควิดโลก “GISAID” พบสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.5 ในประเทศไทยประมาณ 46.2% และเริ่มลดจำนวนลงโดยมี BA.5 รุ่นเหลน เช่น BQ.1, BQ.1.1 และ BA.2.75 รุ่นหลาน เช่น CH.1.1 เพิ่มจำนวนเข้ามาแทนที่อย่างช้า ๆ (ภาพ 1)

ตระกูลโอมิครอน BA.2*

สายพันธุ์ดั้งเดิม BA.2 ไม่พบแล้ว พบรุ่นลูกที่กลายพันธุ์มาคือ BA.2.75 จากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID”พบ BA.2.75* ในประเทศไทยประมาณ 46.2% และเริ่มลดจำนวนลง โดยมีรุ่นหลาน เช่น CH.1.1 เพิ่มจำนวนมาแทนที่ (ภาพ 1)

ตระกูลโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB* พบในประเทศไทยไม่มาก เป็นจำนวนตัวเลขหลักสิบ

สำหรับความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ของโอมิครอนสายพันธุ์สำคัญในประเทศไทย

โอมิครอนตระกูล BA.5* มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดในประเทศไทยเพียง 1% (ภาพ 2)

โอมิครอนตระกูล BA.2.75* มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดในประเทศไทยถึง 58% ดังนั้น คาดว่าจะระบาดมาแทนที่ตระกูล BA.5* ในไม่ช้า (ภาพ 2)

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ BQ.1.1 อันเป็นเหลนของ BA.5 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดในประเทศประมาณ 45% จึงอาจไม่สามารถระบาดมาแทนที่โอมิครอนตระกูล BA.2.75* เช่น CH.1.1 ซึ่งมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดสูงกว่าถึง 51% (ภาพ 2, 3)

ส่วนการใช้วัคซีนต่อต้านโอมิครอนสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) พบว่า วัคซีนรุ่นแรก และรุ่นที่ 2 ที่ใช้ไวรัส 2 สายพันธุ์ (bivalent booster vaccine) เป็นตัวกระตุ้นภูมิต่อสู้กับ BA.2.75 ได้ในระดับหนึ่ง ในขณะที่วัคซีนมีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ (BQ.1.1, XBB.1) ไม่ดีนัก (ภาพ 4)

ขณะที่ยาฉีดแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสม (Long Acting Antibodies /LAAB) ที่มีชื่อว่า “อีวูชีลด์” (Evusheld) ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการพบว่าสามารถเข้าจับและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ BA.5/BA.2.75 ในเซลล์ได้ดี แต่เข้าจับและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ เช่น XBB* และ BQ.1*ในเซลล์ได้ไม่ดี (ภาพ 5)

สำหรับยาเม็ดต้านไวรัส เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir), ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid : nirmatrelvir/ritonavir), ยา (ฉีด) เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ขณะนี้ยังใช้รักษาการติดเชื้อโควิดได้ดี มีขอบเขตในการออกฤทธิ์กว้างครอบคลุมเชื้อได้ทุกสายพันธุ์ (board-spectrum anti-SARS-CoV-2) ยังไม่พบโควิด-19 สายพันธุ์ใด ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ใหม่ดื้อต่อยาต้านไวรัสเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกังวลว่าจะเกิดเชื้อดื้อยาในไม่ช้า เมื่อมีการใช้ยาต้านไวรัสโควิด-19 กันมากขึ้น เพราะลักษณะการใช้ยาในปัจจุบันต่อโควิด-19 ยังเป็นการใช้ยาตัวเดียวในการรักษา (monotherapy)