เปิดแผนรับนักท่องเที่ยว กทม. คาดไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

นักท่องเที่ยว
ภาพจากศูนย์ภาพมติชน

ด้านสาธารณสุขกรุงเทพฯพร้อมรับนักท่องเที่ยวทุกชาติ จัดเตรียมวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว ด้านสำนักการท่องเที่ยว กทม. คาดนักท่องเที่ยวทะลุ 10 ล้านคน

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำกับสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความพร้อมในการรับมือนักท่องเที่ยวในสถานการณ์โควิดว่า

จัดวัคซีนภาคบริการ-นักท่องเที่ยว

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือหากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรอบด้าน โดยในการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ได้มีการเชิญผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคม ATTA ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก

ในมาตรการในการเตรียมการรับมือนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะทาง กทม. ได้มีคำแนะนำให้คนที่ทำงานด้านบริการ อาทิ พนักงานโรงแรม ร้านอาหาร ผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ ได้ฉีควัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเข็มกระตุ้นอย่างทั่วถึงเป็นลำดับแรก

และสำหรับนักท่องเที่ยวนั้น หากมีความประสงค์จะรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถเข้ารับวัคซีนได้ โดยมีค่าบริการ ดังต่อไปนี้

ค่าบริการผู้ป่วยนอก 300 บาท ค่าฉีดยา (ชาวต่างชาติ) 80 บาท ค่าวัคซีนโควิดชาวต่างชาติ (Astra) 800 บาท ค่าวัคซีนโควิดชาวต่างชาติ (Pfizer) 1,000 บาท

โดยผู้ประสงค์รับวัคซีนจะต้องลงนามในเอกสารแสดงความประสงค์ขอรับการฉีควัคซีน และลงนามยินยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง กรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีน

โดยมีจุดให้บริการวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว ดังต่อไปนี้

  1. ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)
  2. โรงพยาบาลกลาง
  3. โรงพยาบาลตากสิน
  4. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
  5. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ
  6. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
  7. โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
  8. โรงพยาบาลสิรินธร
  9. โรงพยาบาลการุณย์รัศมิ์
  10. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
  11. โรงพยาบาลคลองสามวา
  12. โรงพยาบาลบางนา กรุงเทพมหานคร

ซึ่งมาตรการการฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้น ทางกรมการควบคุมโรคก็มีการดำเนินมาตรการนี้ไปพร้อม ๆ กับกรุงเทพมหานคร

จำนวนเตียงปัจจุบัน 3.6 พันเตียง หากวิกฤตขยายเพิ่มไม่อั้น

นอกจากนี้ นายแพทย์สุขสันต์ยังเปิดเผยอีกว่า ทั้งจำนวนเตียงและยารักษาสำหรับผู้ป่วยโควิดนั้นปัจจุบันมีความพร้อมเป็นอย่างสูง โดยแบ่งเป็น

1.สำหรับจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น 3,624 เตียง มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 1.5% สำหรับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครนั้นมีเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดอยู่ที่ 143 เตียง มีอัตราการครองเตียงที่ 143 เตียง

ซึ่งหากมีอัตราการครองเตียงเกินกว่า 80% จะมีการดำเนินขยายเตียงเพื่อรองรับสถานการณ์การติดเชื้อโดยทันที เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น

ปริมาณยารักษาโควิดเต็มสต๊อก 6 เดือน

2.สำหรับส่วนของยาที่ใช้ในการรักษาอาการโควิด ปัจจุบันมีเพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วย โดยมีการติดตามสถานการณ์การใช้ยาต้านไวรัส โควิด-19 ทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ยา Favipiravir Molunupiravir Remdesivir และ Paxlovid และมีการสำรองยาสำหรับผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาเพื่อใช้ได้มากกว่า 6 เดือน

หมอสุขสันต์ได้ฝากว่า สำหรับกรุงเทพมหานครนั้นมีความพร้อมในการรับมือการท่องเที่ยวจากต่างชาติในการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิดอย่างเต็มที่ และยังมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์อย่างทันท่วงที

คาดนักท่องเที่ยว กทม.ทะลุ 10 ล้าน

ด้านนายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับด้านการท่องเที่ยวที่ภาคธุรกิจมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับสถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตั้งแต่ปี 2562 เป็นดังต่อไปนี้

ปี 2562 ประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 77,393,030 คน โดยมีรายได้ 1,646,144.75 ล้านบาท โดยเป็นผู้มาเยี่ยมเยือนกรุงเทพมหานคร 24,892,715 คน โดยมีรายได้ 683,209.26 ล้านบาท

ปี 2563 ปีแรกในสถานการณ์โควิด ประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 346,515 คน โดยมีรายได้ 310,066.12 ล้านบาท โดยเป็นผู้มาเยี่ยมเยือนกรุงเทพมหานคร 4,822,513 คน โดยมีรายได้ 120,978.96 ล้านบาท

ปี 2564 ประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,154,289 คน โดยมีรายได้ 24,974.31 ล้านบาท โดยเป็นผู้มาเยี่ยมเยือนกรุงเทพมหานคร 625,362 คน โดยมีรายได้ 10,153.13 ล้านบาท

และปี 2565 ในปีที่เราเพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์โควิด ประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 21,869,247 คน โดยมีรายได้ 443,021.08 ล้านบาท โดยเป็นผู้มาเยี่ยมเยือนกรุงเทพมหานคร 9,832,457 คน โดยมีรายได้ 198,693.26 ล้านบาท

มีข้อสังเกตเล็ก ๆ ว่าในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ทาง กทม. จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งประเทศ แต่ในปี 2565 ที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด สัดส่วนนักท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนใกล้เคียงกับ 50% ของนักท่องเที่ยวทั้งประเทศ

ดังนั้นในปี 2566 เมื่อมีการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวของทั้งประเทศไว้ที่ 40 ล้านคน ดังนั้นประมาณการนักท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ 13 ถึง 20 ล้านคน

ในห้วงเวลาที่นักท่องเที่ยวน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการในการซ่อมแซม ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวมาโดยตลอด

แต่อย่างไรก็ดี สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นมีทั้งพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ของหน่วยงานรัฐอื่น และของเอกชน สำหรับพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเองก็ได้มีการทยอยปรับปรุงและซ่อมแซมมาโดยตลอด

จุดบริการนักท่องเที่ยว

นายสมบูรณ์ยังกล่าวต่ออีกว่า ทางกรุงเทพมหานครยังมีจุดบริการนักท่องเที่ยวกว่า 23 จุด กระจายไปตามแหล่งการท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ย่านสุขุมวิท และย่านสีลม โดยมีบทบาททั้งด้านการประชาสัมพันธ์จุดท่องเที่ยว ดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว

อีกทั้งยังเป็นหน่วยที่คอยรับเรื่องร้องเรียนแก่นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับความสะดวกในการท่องเที่ยว จากหลายปัจจัย อาทิ แท็กซี่ที่คิดราคาเหมาจ่าย หรือผู้ประกอบการที่คิดราคาแพงเกินไป