การบินไทยยื่นศาลฟื้นฟูกิจการ นัดไต่สวน 17 ส.ค. พักหนี้ 3 แสนล้าน 6 มือดีทำแผน

ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย นัดไต่สวน 17 ส.ค. 2563

ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย นัดไต่สวน 17 ส.ค.2563 เปิดรายชื่อ 6 อรหันต์ที่ยื่นขอให้ศาลตั้งเป็นผู้ทำแผน บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับกรรมการบริษัทฯอีก 5 ราย “ชัยพฤกษ์-จักรกฤศฏิ์-พีระพันธุ์-บุญทักษ์-ปิยสวัสดิ์” ชี้ได้รับการคุ้มครองพักหนี้ 3 แสนล้านทันที ปิดทางเจ้าหนี้ฟ้องบังคับชำระหนี้ นายกฯตั้ง 9 ซูเปอร์บอร์ดกลั่นกรอง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา บมจ.การบินไทยได้ส่งตัวแทนของบริษัทพร้อมกับตัวแทนจาก บจ.เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย เข้ายื่นคำร้องของฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ต่อศาลล้มละลายกลาง ที่อาคารศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ

ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้(27 พ.ค. 2563) ที่ศาลล้มละลายกลาง ศาลได้มีคำสั่งคดีดำ ฟฟ 10/2563 ในคำร้องขอฟื้นฟูที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และศาลพิจารณาเเล้วมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เเละนัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค. 2563 เวลา 09.00 น.

ยื่นขอฟื้นฟูแก้หนี้ 3 แสนล้าน

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการยื่นคำขอเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2543

สาระสำคัญของคำร้องที่ยื่นขอฟื้นฟูฯ บมจ.การบินไทย ในฐานะลูกหนี้ระบุถึงการมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยแสดงรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ อาทิ เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้สมาชิกบัตรรอยัล ออร์คิดพลัส รวมกว่า 4 ล้านราย เจ้าหนี้ซึ่งเป็นลูกค้าที่ซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินของการบินไทยแต่ยังไม่ได้เดินทาง เป็นต้น รวมมูลหนี้หรือจำนวนทุนทรัพย์ทั้งหมดราว 300,000 ล้านบาท

เปิด 6 รายชื่อผู้ทำแผน

วันเดียวกัน(27 พ.ค.) บมจ.การบินไทยแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเสนอชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ให้ศาลพิจารณารวม 6 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด และกรรมการบริษัทฯอีก 5 ราย ได้แก่ 1.พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย 2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการ) 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 5.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และหนังสือยินยอมของผู้ทำแผน ขณะเดียวกันได้ชี้ให้ศาลเห็นถึงเหตุผลและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ทำแผนที่ได้รับการเสนอชื่อ 3 รายหลัง ได้แก่ นายพีระพันธุ์ นายบุญทักษ์ และนายปิยสวัสดิ์ นั้น เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เข้าเป็นกรรมการ บมจ.การบินไทย เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่มีชื่อเป็นกรรมการ บมจ.การบินไทยก่อนหน้านี้ ขอลาออก หลังดำรงตำแหน่งได้เพียงวันเดียว เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ บมจ.การบินไทยทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่า ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทยลงต่ำกว่า 50% เหลือ 47.86% โดยจำหน่ายหุ้น 3.17% ให้กองทุนวายุภักษ์หนึ่ง ส่งผลให้ บมจ.การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

ศาลสั่งรับคำร้องฟื้นฟู-พักหนี้

แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายตลาดทุนเปิดเผยว่า ตามกระบวนการเมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย จะได้รับการคุ้มครองตามหลักการสภาวะพักการชำระหนี้ (automatic stay) ไม่มีใครสามารถฟ้องให้ชำระหนี้ได้ ซึ่งระหว่างนี้จะมีการประชุมทำแผนฟื้นฟูว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไร ดังนั้นในแง่ผู้ถือหุ้นกู้จะยังไม่ได้รับการชำระหนี้ทันที ต้องรอจนกว่าแผนฟื้นฟูจะออกมาชัดเจน แต่หนี้จะไม่สูญ หากสามารถฟื้นฟูกิจการได้ แต่หากล้มละลายอาจอันตราย

“หนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนคือหนี้มีประกัน เจ้าหนี้ จึงตามมาด้วยผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ และผู้ถือหุ้น ถ้าไม่พอก็สูญไป” แหล่งข่าวกล่าว

ใส่เม็ดเงินใหม่-แฮร์คัตหนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อเข้าแผนฟื้นฟูแล้ว บริษัทจะต้องดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1) เพิ่มทุน เป็นการใส่เงินใหม่เข้าไป เพื่อให้กิจการเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะต้องมีการตีราคาที่เหมาะสม (fair price) ออกมา และ 2) ผู้ถือหุ้นกู้กับเจ้าหนี้ต้องคุยกันว่า จะแฮร์คัตหนี้หรือไม่ หากแฮร์คัตทั้งหมด ในส่วนของผู้ถือหุ้นกู้จะเสียประโยชน์ แต่การฟื้นฟูกิจการส่วนใหญ่มักจะมีแฮร์คัตแค่บางส่วน

ทั้งนี้ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา นายณรงค์ กลั่นวารินทร์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง ออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดคดีล้มละลายให้เหมาะสมและสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยให้การติดต่อระหว่างศาลล้มละลายกับศาลอื่น คูู่ความ เจ้าพนักงานพิทักษ์ เจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้เกี่ยวข้องในคดีอาจทำได้ทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ ได้

นายกฯตั้ง 9 บอร์ดกลั่นกรอง

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2563 โดยอาศัยอำนาจมาตรา 11 (2) แห่ง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โดยความเห็นชอบของ ครม.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย เพื่อกลั่นกรองและช่วยตรวจสอบรวม 9 คน มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรรมการ

วิษณุแจงสี่เบี้ยประกบล้มละลาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พ.ค. 63 รับทราบคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนำการบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลล้มละลายกลาง

ทั้งนี้ นายวิษณุได้แจ้งให้ที่ประชุม ครม.ทราบว่า ได้หารือกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้มีความเห็นร่วมกันว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทยลงเหลือร้อยละ 47.86 จึงเป็นเพียงผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ทำให้บริษัท การบินไทยไม่ได้มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป

กระทรวงคมนาคมจึงให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ให้บริษัท การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟู จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ติดตามดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงการดำเนินการระหว่างคณะรัฐมนตรี กับการบินไทย แม้การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ยังมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอยู่ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่แค่ติดตามการทำงาน ไม่มีอำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในการบินไทย

ปฏิบัติการคู่ขนานฟื้นฟูกิจการ

คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ เป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ แก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของภาครัฐโดยไม่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของศาล กลั่นกรอง ตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกหรือประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการพื้นฟูกิจการ และการดำเนินกิจการของบริษัท การบินไทย ตามที่มีการร้องขอ และไม่ขัดต่อกฎหมาย

ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือ ครม.มอบหมาย รายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ ครม.เป็นระยะ ๆ ข้อคณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะเรื่องได้ ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังกำหนดรายงานเสนอความเห็นต่อ ครม.เป็นระยะ

“ศักดิ์สยาม” เคลียร์คลังจบแล้ว

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมไม่มีอำนาจกำกับดูแลการบินไทย เพราะได้พ้นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว จึงต้องดำเนินการต่อในรูปแบบของบริษัทจำกัดมหาชนต่อไป โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งสามารถใช้อำนาจในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อนุมัติหรือการกระทำการใด ๆก็ได้ แต่ถ้าสามารถคุยกับผู้ถือหุ้นรายอื่นได้ก็ยิ่งดี

ส่วนมติ ครม.วันที่ 19 พ.ค.ที่ให้อำนาจคมนาคมดำเนินการ ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร และถือว่ากระทรวงได้ปฏิบัติตามมติ ครม.เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากช่วงที่กระทรวงการคลังยังไม่ลดสัดส่วนหุ้นลง คมนาคมได้สั่งการการบินไทยในประเด็นต่าง ๆ ไปแล้ว 5 ข้อ 1.จัดทำบัญชีทรัพย์สินและบัญชีหนี้สิน 2.จัดทำร่างทีโออาร์จ้างที่ปรึกษาการเงินและกฎหมาย 3.ทำแผนการบริหารสภาพคล่อง 4.ให้ฝ่ายบริหารให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลต่อคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานกิจการ และปัญหาการทุจริต และ 5.เสนอบัญชีรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนและผู้บริหารแผน ซึ่งการบินไทยจะดำเนินการประสบผลสำเร็จหรือไม่
อยู่ที่การทำแผนฟื้นฟูและผู้จัดทำแผน นำไปสู่การปฏิบัติ และยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งอะไรกับกระทรวงการคลังและไม่มี walk-out จากที่ประชุมแต่อย่างใด

“การจัดตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย ตามคำสั่งสำนักนายกฯ 9 คน มีเจตนารมณ์จะฟื้นการบินไทยให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง และท่านนายกฯตั้งเองทั้งหมด ซึ่งท่านยังพูดว่า ถ้าวันใดที่การบินไทยฟื้นตัวแล้ว อาจจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งก็ได้”

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า คณะกรรมการที่นายวิษณุเป็นประธาน ถือเป็นคณะกรรมการของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับตัวการบินไทย มีหน้าที่ติดตามการดำเนินการตามแผนแก้ไขปัญหา ซึ่งหากมีส่วนใดเกี่ยวข้องกับภาครัฐก็จะช่วยดูแลให้ แต่ไม่ใช่ตั้งมาเพื่อกำกับการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงไม่เกี่ยวกับการเจรจาเจ้าหนี้

“ที่ต้องมีการติดตามก็เพราะว่า เรื่องที่เกี่ยวกับการบินจะมีเรื่องใบอนุญาตต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลต้องดูแล แต่ไม่ใช่เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู หรือคอมเมนต์แผนฟื้นฟู”

หลังจากนี้จะต้องมีคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูขึ้นมา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ว่าในการยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาล จะต้องกำหนดรายชื่อผู้ทำแผนไปด้วย จากนั้นศาลก็จะใช้เวลาพิจารณา แล้วก็จะตัดสินอีกทีว่าจะรับแผนฟื้นฟูดังกล่าวหรือไม่

“ส่วนผู้บริหารแผนจะเป็นชุดเดียวกับผู้ทำแผนก็ได้ หรือไม่เป็นชุดเดียวกันก็ได้ ซึ่งต้องไปถามการบินไทย เพราะการดำเนินการตามแผนเป็นเรื่องของบริษัท ไม่ใช่ของรัฐบาล” นายอุตตมกล่าว