‘บินไทย’ เดินต่ออย่างไร ? เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู…ในวัย 60 ปี

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

ในที่สุด “นายกฯบิ๊กตู่-ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ตัดสินใจนำองค์กร “การบินไทย” เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง ไม่ปล่อยให้ล้มละลาย หรือใส่เงินเข้าไปอุ้ม

พร้อมบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากมาก แต่ก็ย้ำว่า “อยู่บนพื้นฐานที่ช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนคนไทย”

โดยมองว่า “การบินไทย” เป็นองค์กรที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และช่วยสร้างรายได้ให้กับคนไทย ที่สำคัญ ยังทำให้พนักงานของการบินไทยที่มีอยู่กว่า 2 หมื่นคนในขณะนี้มีงานทำต่อไปด้วย หลังจากที่ปล่อยให้หลายฝ่ายลุ้นและคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรกับการบินไทย

ที่สำคัญ “บิ๊กตู่” ยังยืนยันว่าจะสนับสนุนในการดำเนินการของการบินไทยเต็มที่เพื่อให้ยังทำธุรกิจต่อไปได้ แม้ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาอาจมีปัญหาฟื้นฟูได้ไม่มีประสิทธิภาพนัก เและติดข้อกฎหมายหลายอย่าง

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสม ด้วยการขอให้การบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองและการฟื้นฟูของศาล

โดยหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องพิจารณาแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามา บริหารจัดการการฟื้นฟูการบินไทยต่อไป และเชื่อว่าเมื่อมีมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหาร “การบินไทย” จะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยภาคภูมิใจ และกลับมาเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศไทยได้อีกครั้ง

ถือเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของทั้งบรรดาอดีตผู้บริหาร นักการเมือง นักวิชาการ รวมถึงสื่อโซเชียลมีเดียที่ออกมาต่างมุมคิด ต่างมุมมอง ตามฐานข้อมูลที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา

หลาย ๆ คนเชียร์ให้ปล่อยให้ล้มละลายเหมือนสายการบินใหญ่ของโลกบางแห่ง หลาย ๆ คนก็บอกว่า รัฐบาลไม่ควรเอาภาษีของประชาชนไปอุ้มอีกต่อไป และอีกหลาย ๆ คนก็บอกให้รีบปรับโครงสร้างโดยด่วน เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการ ฯลฯ

คำถามตอนนี้ คือ หลังจากนี้ “การบินไทย” องค์กรที่อยู่มายาวนานจนมีอายุครบ 60 ปีไปหมาด ๆ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ?

แน่นอนว่า วัตถุประสงค์การฟื้นฟูกิจการโดยทั่วไปนั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.รักษามูลค่าขององค์กรทั้งหมดไว้เป็นหนึ่งเดียว แทนที่จะถูกแยกจำหน่ายเป็นส่วน ๆ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของกิจการลดลง 2.ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างยุติธรรมและเสมอภาค 3.ให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไป และรักษาสภาพการจ้างไว้

และ 4.เมื่อฟื้นฟูสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือกรณีที่มีการชำระบัญชี

ผู้คร่ำหวอดในวงการการบินรายหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองหลังจากนี้มี 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.เจ้าหนี้ ซึ่งกว่า 70% ของเจ้าหนี้การบินไทยนั้นเป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศจะยินยอม หรือคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและคัดค้านหรือไม่ และ 2.ผู้ทำแผน ซึ่งฝ่ายเจ้าหนี้ต้องมีมติเห็นชอบ 2 ใน 3 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ด้วย

พร้อมอธิบายให้ฟังด้วยว่า กรณีที่ประชุมไม่สามารถมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ และศาลเห็นสมควรจะมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก็ได้ แต่หากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้จะตกแก่ผู้ทำแผน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สถานะของการบินไทยต้องออกจากรัฐวิสาหกิจก่อนที่จะนำเข้าแผนฟื้นฟู โดยกระทรวงการคลังต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นให้เหลือต่ำกว่า 50% ซึ่งการออกจากรัฐวิสาหกิจนั้นจะช่วยทำให้กระบวนการฟื้นฟูมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 อีกต่อไป

เมื่อกระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นลงแล้ว การบินไทยจะต้องเปลี่ยนบอร์ดใหม่ทั้งคณะ จากนั้นถึงจะยื่นคำร้องต่อศาลตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ เมื่อศาลรับคำร้องส่งหมายให้เจ้าหนี้จะทำให้การบินไทยได้รับความคุ้มครอง และศาลจะตั้งผู้ทำแผนเพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ จัดประชุมเจ้าหนี้อนุมัติแผน เมื่อศาลเห็นชอบก็จะแต่งตั้งผู้บริหารแผน และดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูต่อไป

นั่นหมายความว่า นับจากนี้องค์กร “การบินไทย” ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในรอบ 60 ปี ในทุกมิติ เพื่อรีเซตธุรกิจใหม่ทั้งหมด ทั้งโครงสร้างทางการเงิน โครงสร้างการบริหาร การบริหารจัดการ เส้นทางบิน จำนวนบุคลากร อัตราผลตอบแทน ฯลฯ

ทั้งนี้ หากฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์, ลูกหนี้, ผู้บริหารแผนรายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมามีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินต่อไป

เมื่อถามว่าระยะเวลาในการฟื้นฟูนั้นเป็นอย่างไร ผู้คร่ำหวอดในวงการการบินรายนี้เล่าให้ฟังต่อว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2548 แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2543 กำหนดไว้ 5 ปี และขอแก้ไขขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี

หากครบเวลาดำเนินการตามแผน 5 ปี หรือ 6-7 ปี ตามที่มีการขอแก้ไขแผนขยายระยะเวลาออกไปแล้ว แต่ยังฟื้นฟูไม่สำเร็จ ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ได้

นั่นหมายความว่า กระบวนการทั้งหลายทั้งปวงนี้ ยังซื้อเวลาให้ “การบินไทย” ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 7 ปีแน่นอน…