ยื่นศาล 9 ประเทศ ห้ามยึดเครื่องบิน ตั้ง”ชาญศิลป์”นั่งบอร์ดการบินไทย

ที่ปรึกษากฎหมาย “การบินไทย” เร่งเปิดเจรจา 7 เจ้าหนี้ต่างชาติบริษัทให้เช่าเครื่องบินกุมหนี้ราว 50% ขอเสียงโหวตเห็นชอบเข้ากระบวนการฟื้นฟู พร้อมเดินหน้ายื่นศาล 9 ประเทศขอคุ้มครอง “ไม่ให้ยึดเครื่องบิน” รองรับแผนเปิดบิน-คาร์โก้ แก้เกมตั้ง “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” อดีตซีอีโอ ปตท. นั่งบอร์ดแทน “ไพรินทร์” นัดประชุมชี้แจงกระบวนการให้ “ผู้ถือหุ้น-นักลงทุน” 8 มิ.ย.นี้

เร่งเจรจา 7 เจ้าหนี้เครื่องบิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการการบินไทยเมื่อ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา และศาลนัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค. 2563 ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งข้อมูลล่าสุดอยู่ประมาณ 3-4 ล้านราย ประเด็นสำคัญคือจะต้องให้เจ้าหนี้เห็นชอบกับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย มากกว่า 50% ของมูลหนี้ราว 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่ก็คือกลุ่มให้เช่าเครื่องบินกว่า 70 ลำ ทั้งประเภทสัญญาเช่าทางการเงิน และสัญญาเช่าดำเนินงาน ซึ่งในกลุ่มนี้คิดเป็นมูลหนี้ราว 50% แต่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่เพียง 6-7 รายเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยกำลังเร่งเจรจา

พร้อมกันนี้ ทีมกฎหมายจะดำเนินการยื่นเรื่องขอคุ้มครองจากศาลใน 9 ประเทศ อาทิ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สิงคโปร์ รวมถึงเส้นทางในภูมิภาค เนื่องจากเป็นจุดหมายปลายทางที่การบินไทยมีการเปิดบินทั้งขนส่งสินค้า (คาร์โก้) และขนส่งผู้โดยสาร ตามที่รัฐบาลได้มีการร้องขอให้ดำเนินการเพื่อขนคนไทยกลับประเทศ รวมถึงเตรียมแผนการเปิดบินภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

“ต้องทำควบคู่ไปทั้งในการเจรจาเจ้าหนี้ให้เช่าเครื่องบิน กับยื่นขอคุ้มครองศาลแต่ละประเทศ เพราะขึ้นอยู่กับว่าเครื่องบินที่นำมาให้บริการนั้น เจ้าหนี้เห็นชอบหรือไม่ ถ้าเห็นชอบก็ไม่มีปัญหา โดยขณะนี้ยังไม่ยื่นขอฟื้นฟูกับศาลสหรัฐ เพราะพิจารณาว่าวิธีการนี้จะคล่องตัวและค่าใช้จ่ายน้อยกว่า”

ตั้ง “ชาญศิลป์” นั่งบอร์ดเพิ่ม

ขณะที่ล่าสุดได้มีการเสนอชื่อ “นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เข้ามาเป็นกรรมการการบินไทย แทนนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. เนื่องจากออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคมไม่ถึง 2 ปี และหลังจากนั้นก็จะมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้เข้ามาเป็นผู้ทำแผนด้วย

ขณะที่นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ และดีดีการบินไทย พร้อมด้วยทีมที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาการเงิน ได้เข้ารายงานความคืบหน้าต่อ คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยหลังจากที่ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ จากนี้ก็จะต้องดำเนินการส่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย และเนื่องจากเจ้าหนี้มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านราย ดังนั้น ศาลจึงต้องใช้วิธีการส่งคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในกระบวนการของศาล คณะกรรมการติดตามฯจะเข้าไปช่วยประสานระบบไอที ฐานข้อมูลที่อยู่ของเจ้าหนี้ เป็นต้น โดยทางการบินไทยและภาครัฐก็จะเข้าไปช่วยซัพพอร์ตเพื่อให้การดำเนินการเร็วขึ้น

เคลียร์ปมเตรียมเปิดบิน

นอกจากนี้ ได้มีการรายงานถึงอุปสรรคซึ่งเกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่าง ๆ ในการที่การบินไทยจะกลับมาเปิดดำเนินธุรกิจ โดยคณะกรรมการติดตามฯจะช่วยประสานเพื่อให้การดำเนินการของการบินไทยลุล่วงไปได้ เช่นที่มีแผนจะเปิดบินในช่วง ก.ค. 63 ซึ่งภายใต้กระบวนการฟื้นฟูสามารถทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจของการบินไทยว่าจะให้บินเส้นทางใดบ้าง และมีข้อขัดข้องกับกฎหมายควบคุมการบินหรือไม่ โดยจะดูว่ากระทรวงคมนาคมจะสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุน และแก้ไขปัญหาในส่วนใดได้

รื้อสัญญา AOT

นายประภาศกล่าวว่า ขณะที่ภาครัฐอื่น ๆ อย่างกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลสายการบินก็ต้องมีช่วยประสานว่า กรณีที่การบินไทยจะกลับมาเปิดดำเนินการ จะมีข้อติดขัดในระเบียบอะไรบ้าง จะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ หรือแม้แต่เรื่องสัญญาต่าง ๆ ที่การบินไทยได้ทำไว้ เช่น สัญญากับ AOT ซึ่งเดิมทั้ง 2 แห่งต่างก็เป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อการบินไทยเปลี่ยนสภาพไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ข้อตกลงตามสัญญาก็จะต้องแก้ไขอย่างไร เพราะเปลี่ยนเป็นสัญญาระหว่าง AOT กับเอกชนแล้ว ซึ่งก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าเข้าเงื่อนไขการร่วมลงทุนหรือไม่ ฉะนั้น คณะกรรมการ จึงต้องให้การบินไทยชี้แจงให้ชัดเจนว่า มีสัญญาอะไรที่ทำไว้บ้าง และมีข้อขัดข้องในการดำเนินการอะไร ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเข้าไปช่วยสนับสนุน

ป้องกันยึดเครื่องบิน

นายประภาศกล่าวว่า สำหรับการเจรจากับเจ้าหนี้การบินไทยถือเป็นเรื่องหลักที่ทีมการบินไทย ทั้งที่ปรึกษากฎหมายและที่ปรึกษาการเงิน รวมถึงคณะผู้ทำแผน กำลังดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งในการที่จะทำให้เจ้าหนี้ยอมรับในเรื่องจำนวนหนี้ที่จะต้องลดลง หรือการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ หากเจ้าหนี้ยอมรับจะเป็นประโยชน์ต่อแผนการฟื้นฟู เนื่องจากเจ้าหนี้จะเข้ามาสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลไทยได้เลย และเมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาล เจ้าหนี้ก็จะไม่มีการคัดค้านในการทำแผน จะทำให้การฟื้นฟูสามารถเดินหน้าต่อไปได้เร็ว

“ระยะเวลาต่อจากนี้ การบินไทยจะต้องเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน ก่อนวันที่ 17 ส.ค. ที่ศาลนัดไต่สวน หากเจ้าหนี้ตกลงจะทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร และบอกว่าไม่ไปขอใช้สิทธิในการบังคับชำระหนี้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องที่จะไม่ยึดเครื่องบิน กรณีที่การบินไทยเปิดให้บริการไปประเทศต่าง ๆ ซึ่งหากเจ้าหนี้ยินยอมแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปยื่นขอฟื้นฟูในศาลต่างประเทศ” นายประภาศกล่าว

อย่างไรก็ดี หากเจ้าหนี้ต่างประเทศไม่ยอมรับเงื่อนไขที่การบินไทยเข้าไปเจรจา ในส่วนเครื่องบินที่เช่าซึ่งไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของการบินไทย หากจะบินไปที่ไหนก็จะต้องดำเนินการไปยื่นคำร้องต่อศาลประเทศนั้น ๆ เพื่อแจ้งให้กับศาลและการบังคับคดี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศนั้นได้รับทราบว่า ขณะนี้ได้มีการยื่นศาลไทยแล้ว และหากศาลในประเทศนั้นได้รับรองแล้วก็จะยึดเครื่องบินไม่ได้เหมือนกัน

นายประภาศกล่าวว่า สำหรับในกระบวนการฟื้นฟูที่จะต้องมีการลดทุน เพิ่มทุน หรือแปลงหนี้เป็นทุนนั้น เป็นเรื่องรายละเอียดที่ผู้ทำแผนจะต้องไปดำเนินการ

ประชุมผู้ถือหุ้น 8 มิ.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 มิ.ย. 2563 บมจ.การบินไทยแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทกำหนดการจัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน เละบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงแนวทาง ขั้นตอนดำเนินการการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2563


นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 63 ก.ล.ต.ได้เชิญกรมบังคับคดีมาให้ข้อมูลเรื่องการฟื้นฟูกิจการและการล้มละลายกิจการของ บมจ.การบินไทย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดกระบวนการต่าง ๆ จะต้องมีการหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง