WHO รับรองแล้ว สยามไบโอไซเอนซ์ ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

แอสตร้าเซนเนก้าของ SBS ผ่าน WHO แล้ว

เอกสารองค์การอนามัยโลกชี้ มีการเพิ่มชื่อ โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นสถานที่ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้ว 

วันที่ 13 ตุลาคม 2564 ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษา ศบค. โพสต์เอกสาร ซึ่งเนื้อหาระบุว่าเป็นเอกสารจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ นายโรจิริโอ กาสปาร์ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมและกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้น ส่งถึง นางเอตเลวา คาดิลิ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดหาของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา

เพื่อแจ้งเรื่อง การเพิ่มโรงงานผลิตวัคซีนใช้ในกรณีฉุกเฉิน ที่เสนอโดยแอสตร้าเซนเนก้า ภายใต้ขั้นตอนรับรองกรณีใช้ฉุกเฉิน (EUL) จาก WHO โดยระบุว่า

เรายินดีที่จะแจ้งให้คุณทราบถึงข้อเสนอแนะ เรื่องสถานที่ผลิตทางเลือกของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งคำแนะนำนี้อ้างอิงตามข้อมูลที่ตรวจสอบโดย WHO และหน่วยงานบริหารสินค้ารักษาโรคออสเตรเลีย (TGA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลวัคซีนชนิดนี้

สยามไบโอไซเอนซ์ ได้ถูกเพิ่มลงในรายชื่อสถานที่ผลิตทางเลือกของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ EUL ที่บริษัทได้รับอนุญาต โดยที่หน้าเว็บ WHO EUL จะมีการอัพเดต เพื่อรวมสถานที่ผลิตวัคซีนแห่งนี้ด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปทางตัวแทน แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ยืนยันว่าเป็นเอกสารจริง โดยหลังจากนี้จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเว็บ WHO EUL พบข้อมูลอัพเดตถึงวันที่ 29 กันยายน 2564 โดยโรงงานที่ได้รับการรับรองจาก WHO ให้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าใช้ในกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ โรงงานขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เท่านั้น

สาเหตุที่รับรองช้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในงานสัมมนา “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อปลายเดือนกันยายน มร.เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นคุณภาพเดียวกันทั่วโลก เพราะบริษัทไม่มีทางเอาชีวิตของผู้คนมาเสี่ยง ฐานการผลิตทั้งหมด 25 แห่งอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

และกว่าที่จะผลิตวัคซีนออกมา ต้องทำตามขั้นตอนเอกสารสำคัญมากมายกว่า 60 ชุด จำนวนกว่า 1,000 หน้าที่ต้องรีวิว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อความล่าช้า แต่ต้องยอมรับว่าขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่สามารถละเลยได้ และบริษัททำตามอย่างเข้มงวด

โดย ณ เวลานั้น ผู้บริหารแอสตร้าเซนเนก้าเผยว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยผ่านการรับรองจากประเทศออสเตรเลียแล้ว และกำลังดำเนินการให้ผ่านการรับรองจาก WHO ด้วย