ศบค.ปลื้มเปิดประเทศโควิดลด คลัสเตอร์ใหม่ผุดเพียบ “ทอดกฐิน” หนักสุด

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค.ปลื้ม ภาพรวมเปิดประเทศ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ป่วยหนัก เสียชีวิต ลดลงทุกพื้นที่ แต่ก็ยังพบคลัสเตอร์ใหม่อื้อ ทั้งแคมป์ก่อสร้าง โรงงาน ตลาด โดยเฉพาะ “งานกฐิน” เจอเพียบ แถมเดินทางข้ามจังหวัด ใช้รถบัสเป็นพาหนะ ส่วนต่างชาติเข้าไทยหลังเปิดประเทศเกือบ 2.3 หมื่นราย พบติดโควิดแค่ 20 คน พร้อมจับตาพื้นที่ กทม.ใกล้ชิด ส่วนฉีดวัคซีนฉีดเกินเป้าหลายจังหวัดแล้ว

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 7,592 ราย หายป่วยแล้ว 1,830,037 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,946,728 ราย เสียชีวิตสะสม 19,609 ราย

ทิศทางลดลงทุกตัวเลข ทั้งป่วยใหม่ อาการหนัก เสียชีวิต

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 1,857,463 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,975,591 ราย เสียชีวิตสะสม 19,703 ราย

สำหรับผู้ป่วยกำลังรักษาตัววันนี้มีจำนวน 98,425 คน อยู่ใน รพ. 42,193 คน รพ.สนาม 56,232 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,997 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 441 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากก่อนหน้านี้

“วันนี้เป็นอีก 1 วันที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง และถ้าดูทิศทางในส่วนของผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมทั้งผู้ที่มีอาการหนักและเสียชีวิตยังเห็นทิศทางที่ลดลงในทุก ๆ ตัวเลข และยังเป็นทิศทางที่เราต้องการเห็นไปในทิศทางนี้ แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นการผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้มงวดมาตรการของรัฐบาล ผู้ประกอบการ พี่น้องประชาชนที่ร่วมมือกัน” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

ภาพรวมทุกพื้นที่ลดลงทั้งประเทศ

เช่นเดียวกับผลตรวจ ATK วันนี้ก็ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และต่ำกว่า 10% โดยยอดตรวจ ATK วันที่ 8 พ.ย. 64 มีจำนวน 46,406 ราย ยอดตรวจสะสมวันที่ 20 ส.ค.-8 พ.ย. 64 มีจำนวน 3,721,650 ราย และยอดผลบวก ATK วันที่ 8 พ.ย. 64 มีจำนวน 3,295 ราย และยอดผลบวกสะสมวันที่ 20 ส.ค.-8 พ.ย. 64 มีจำนวน 220,211 ราย

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ 90% ยังอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว และเป็นตัวเลขที่ยืนยันต่อเนื่องมาตลอดว่า เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 โดส

ส่วนการแบ่งพื้นที่การติดเชื้อในภาพรวมของทั้งประเทศจะพบว่า ทุกพื้นที่มีแนวโน้มลดลง เห็นได้จาก 67 จังหวัด มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 4,145 ราย คิดเป็นสัดส่วน 60% ชายแดนใต้ 1,429 ราย คิดเป็นสัดส่วน 21% กทม.และปริมณฑล 1,297 ราย คิดเป็นสัดส่วน 19%

“จะเห็นได้ชัดว่าการควบคุมการระบาดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ตอนนี้ทิศทางก็ยังคงลดลง แต่ถ้าเทียบกับทั้งประเทศก็ยังเป็น 21% อยู่” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

สธ.จับตาพื้นที่ กทม.ใกล้ชิด

สำหรับ 10 จังหวัดที่ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดวันนี้ อันดับ 1 ยังเป็น กรุงเทพมหานคร จำนวน 865 ราย รองลงมาเป็นสงขลา 462 ราย เชียงใหม่ 429 ราย ปัตตานี 406 ราย นครศรีธรรมราช 372 ราย นราธิวาส 295 ราย ยะลา 266 ราย สมุทรปราการ 219 ราย ชลบุรี 179 ราย และสุราษฎร์ธานี 179 ราย

“10 จังหวัดที่มีรายงานการติดเชื้อจะเห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดชายแดนใต้ยังอยู่ในกลุ่มนี้ แต่บางจังหวัดอย่างสมุทรปราการลงไปอยู่อันดับที่ 8 แล้ว ถือได้ว่าตัวเลขเล็กลง เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ตัวเลขวันนี้ 865 ราย ก็ลดลงจากหลายช่วงที่ผ่านมา แต่ในที่ประชุมของสาธารณสุขก็ยังคงจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีบางวันที่ลดลงไปกว่านี้ แต่วันนี้กระเถิบขึ้นมา” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

คลัสเตอร์ใหม่ แคมป์ก่อสร้าง โรงงาน ตลาด ทอดกฐิน

ส่วนคลัสเตอร์ใหม่ที่ ศบค.มีความเป็นห่วง ซึ่งมีการเน้นย้ำตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการทอดกฐิน วันนี้มีรายงานหลายจังหวัด เช่นที่ ยโสธร ร้อยเอ็ด โดยในส่วนของคลัสเตอร์ร้อยเอ็ด เป็นการกลับจากงานทอดกฐินที่ขอนแก่น นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่ ศรีสะเกษ ประจวบคีรีขันธ์ สิงห์บุรี กาญจนบุรี สตูล

“ทั้งหมดนี้เป็นพิธีกรรมทอดกฐินทั้งหมด รวมทั้งงานศพก็มีรายงานที่กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี พัทลุง สงขลา โดยเฉพาะในส่วนของงานทอดกฐินตลอดเดือนนี้จะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ขอเน้นย้ำ ขอความร่วมมือไปยังจังหวัดรวมทั้งสถานที่จัดงาน วัดวาอาราม รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่มีการเดินทางทั้งในพื้นที่และข้ามพื้นที่ ขอให้ระมัดระวังเรื่องมาตการ universal prevention หรือมาตรการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด และปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวดด้วย เพราะมีการใช้รถบัสในการเดินทาง อาจจะมีการแพร่ระบาดได้” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

“สำหรับในพื้นที่ กทม.ยังมีการรายงานของแคมป์ก่อสร้างด้วย ซึ่งในส่วนของแคมป์ก่อสร้างยังมีการรายงานที่เชียงใหม่ ขอนแก่น นครนายก จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลาด้วย ส่วนกลุ่มของโรงงาน สถานประกอบการมีการรายงานที่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี พัทลุง และมีการรายงานตลาดที่เชียงใหม่ วันนี้คลัสเตอร์ตลาดที่เชียงใหม่พบผู้ติดเชื้ออีก 65 ราย

และยังพบอีกหลายจังหวัดที่มีการรายงานการติดเชื้อที่ตลาด เช่น สุรินทร์ อุดรธานี พิษณุโลก จันทบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี รวมทั้งที่สงขลาด้วย จึงขอเตือนว่า แม้ในช่วงนี้จะมีการผ่อนคลายลงมา แต่ในแง่ของการเฝ้าระวังเรื่องของการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่กรมควบคุมโรคได้เน้นย้ำอย่างต่อเนื่อง”

ย้ำเตือน 3 ฉากทัศน์ ไม่อยากเห็นกราฟพุ่งลอยฟ้า

ถ้าไปดูทิศทางการคาดการณ์การติดเชื้อหลังเปิดประเทศ อย่างที่เคยเรียนก่อนหน้านี้ว่า กรณีที่เราร่วมมือกัน (ฉากทัศน์สีเขียว) ที่มีการเข้มงวดทั้งในส่วนของภาครัฐ ผู้ประกอบการ รวมทั้งประชาชนจะเห็นการติดเชื้อที่ลดลง

“ขณะที่ภาพของปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการเปิดประเทศแล้ว จะเห็นว่าเรายังประคับประคองอยู่ภายในเส้นสีเขียว ซี่งเราอยากให้เห็นทิศทางอย่างนี้ต่อไป แต่ฉากทัศน์ที่แสดงให้เห็นเป็นกราฟเส้นสีดำพุ่งสูงขึ้นลอยฟ้าคือกรณีที่เราสบายอกสบายใจมากจนเกินไป มีการย่อหย่อนมาตรการ ร้านอาหารเปิด ไม่ค่อยระมัดระวัง หรือโรงเรียนเปิด สถานประกอบการเปิด อาจมีการหละหลวมและทำให้ผู้ติดเชื้อขยับขึ้นมาเป็นระดับหลายหมื่นเหมือนที่เคยเป็นมาก่อน”

ยอดฉีดวัคซีนทะลุ 80 ล้านโดส

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า ในส่วนของภาพรวมการฉีดวัคซีนเมื่อวานนี้ฉีดได้ 278,059 โดส รวมยอดสะสมที่ฉีดไปจำนวน 80,499,612 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 43.9 ล้านโดส ครอบคลุม 61.1% ของประชากร เข็มสอง 33.9 ล้านโดส ครอบคลุม 47.1% ของประชากร และเข็มสาม 2.59 ล้านราย ครอบคลุม 3.6%

โดยบุคลากรทางการแพทย์หรือด่านหน้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว 90% กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 70.2% เข็มสอง 59.4% กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี เข็มหนึ่งอยู่ 65.7% เป็นทิศทางตามแผนที่ครอบคลุมวัคซีนและกลุ่มเสี่ยงหลักคือกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว

สำหรับจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมสูงคือ กรุงเทพมหานคร เข็มสองฉีดไปแล้ว 87.5% และกลุ่มสูงอายุเข็มหนึ่งฉีดไปแล้ว 81.4% เช่นเดียวกับสมุทรปราการ เข็มหนึ่งครอบคลุม 76.4% และผู้สูงอายุ 92.7%

“เหล่านี้น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่สถานการณ์แพร่ระบาด กทม. สมุทรปราการ ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายงานลดลง รวมทั้งยอดผู้เสียชีวิตก็ลดลง เน้นย้ำว่าในจังหวัดที่ยังมีการฉีดไม่ครอบคลุมให้เร่งการฉีดวัคซีน” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวและว่า

วันนี้ที่จะเน้นย้ำ ทาง ศบค.ได้เน้นย้ำจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวในพื้นที่สีฟ้า ซึ่งตอนนี้มี หนองคาย ที่การครอบคลุมในการฉีดยังไม่ถึง 50% แต่ก็ใกล้แล้วโดยฉีดได้ 48.7% ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุของหนองคายเข็มแรกอยู่ที่ 66.4%

ส่วนอีก 2 จังหวัดที่เพิ่งจะถึง 50% คือ อุดรธานี 51.6% กลุ่มสูงอายุ 77.7% และเลย 51.7% ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ 67.4% ขอให้พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวที่เกินเป้าหมายไปแล้วยังคงต้องเร่งระดมฉีดต่อไป เพราะตัวเลขครอบคลุมสูงทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยมากขึ้น

ส่วนจังหวัดที่อัตราการฉีดวัคซีนได้น้อย คือ หนองบัวลำภู วัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุม 37.7% นครพนม 38.1% แม่ฮ่องสอน 42.1% สกลนคร 40.3% ในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ แม้เข็มหนึ่งค่อนข้างน้อย แต่จะเห็นได้ชัดว่ามีการเทไปให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว อย่าง หนองบัวลำภู ผู้สูงอายุฉีดไปแล้ว 67.% นครพนม 64.3% สกลนคร 93.7%

“ทิศทางทุกจังหวัดพยายามดำเนินตามนโยบาย คือ เร่งระดมฉีดในกลุ่มเสี่ยงก่อน เมื่อวัคซีนมีเพียงพอ ระบบพร้อมมากขึ้น ขอให้กระจายไปที่พี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด”

ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีเป้าหมายชัดเจน เช่น เร่งระดมฉีดในกลุ่มครู หรือบุคลากรทางการศึกษา หรือเน้นไปที่พนักงานขับรถ ผู้ที่อยู่ในระบบขนส่งสาธารณะ กลุ่มสถานประกอบการ สถานให้บริการ เป็นต้น โดยให้จังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม และความต้องการในพื้นที่

 

ต่างชาติเข้าไทยเกือบ 2.3 หมื่นคน ติดโควิด 20 คน

ส่วนผลการดำเนินงานผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1-7 พ.ย. วันนี้ตัวเลขสะสมอยู่ที่ 22,832 ราย โดยตัวเลขสูงสุดจะเป็นเยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

โดยเข้ามาทุกท่าอากาศยาน ทั้ง สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย ที่อยู่ในระบบ Test and Go คือไม่มีการกักตัว มีทั้งสิ้น 14,282 ราย พบติดเชื้อ 9 ราย หรือคิดเป็น 0.05% (ตามตาราง)

รวม ๆ แล้วผู้ที่เข้าประเทศมา 22,832 ราย พบติดเชื้อ 20 ราย คิดเป็นสัดส่วน 0.09% ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเดินทางเข้าประเทศในกลุ่ม Test and Go ที่เข้ามานี้เป็นการเข้ามาในราชอาณาจักรแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ และเป็นผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุข ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล

“ต้องย้ำว่าเป็นการเปิดภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีอยู่ ต้องเน้นย้ำว่า ความเสี่ยงจะยังมีอยู่ แม้ว่าจะอยู่ในระบบที่สาธารณสุขจะรองรับได้ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

อย่างไรก็ตามการเปิดประเทศในวันนี้หลาย ๆ จังหวัดยังมีปัญหาอยู่ซึ่งทาง ผอ.ศปก.ศบค. จะมีการประชุมร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งในเรื่องของกระบวนการทำงานที่อาจมีความขัดข้อง ล่าช้า หรือรวมทั้งเรื่องของ รพ.คู่สัญญา ซึ่งในที่ประชุมจะมีการลงรายละเอียดด้วย

เช่น ผลตรวจแล็บจะพยายามให้น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือการอนุมัติผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass หรือเรื่องของสายการบิน คอลเซ็นเตอร์ สถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า เป็นต้น เพื่อหามาตรการในการเดินทางเข้าในราชอาณาจักรทั้งของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และชาวไทย มีความราบรื่น รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“สิ่งที่ที่ประชุมมีความเป็นห่วงในวันนี้คือเรื่องของเทศกาล ประเพณี ก็ขอเน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ เฝ้าระวังมาตรการ COVID free setting กำชับไปยังสถานประกอบการ ร้านอาหาร หรือโรงแรม ที่เตรียมจะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตืในในเร็ว ๆ นี้ ขอให้เข้มงวดมาตรการกันด้วย” แพทย์อภิสมัยกล่าวในตอนท้าย