ที่ดิน สปก. คืออะไร ? ซื้อขายได้หรือไม่ ?

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

รู้จักที่ดินประเภท ส.ป.ก. หลังเจ๊ติ๋มแฉแม่ปองถือครอง 7 ไร่ ทำให้เกิดคำถามว่าที่ดินประเภทนี้คืออะไร ซื้อขายได้หรือไม่?

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ที่ปรึกษาบริษัทไทยทีวี จำกัด แถลงข่าวแฉพฤติกรรม นายสมปอง นครไธสง หรือ อดีตพระมหาสมปอง ในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือเรื่องการไปซื้อที่ดิน ส.ป.ก.เกือบ 300 ไร่ ทำสวนยางพารากับครอบครัว เป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท หรือไม่

ซึ่งต่อมาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ชี้แจงว่า ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมา ถือว่าอยู่นอกเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน และมีเพียง 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และเกษตรกรผู้ซึ่งได้รับอนุญาตฯ ยังคงทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองโดยการปลูกหมากและมะพร้าว ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะสรุปเรื่องราวทั้งหมด

เมื่อประเด็นเรื่องที่ดินประเภท ส.ป.ก. ถูกกล่าวถึงอีกครั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินประเภทนี้ เพื่อหาคำตอบว่าสามารถนำไปซื้อขายได้หรือไม่

ส.ป.ก.คืออะไร

เว็บไซต์ศาลปกครอง ให้คำจำกัดความ คำว่า ส.ป.ก.ว่าหมายถึง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น ที่ดิน ส.ป.ก. จึงเป็นที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิของหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งจะนำที่ดินมาปฏิรูปเพื่อประโยชน์
ในทางเกษตรกรรม ไม่วาจะเป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิ และการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐ หรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อ หรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตามกฎหมาย เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเอง หรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์

โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิงขึ้น

ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของ ส.ป.ก.มาจากเมื่อครั้งการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งในข้อเรียกร้องหลายอย่างมีเรื่องการขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ซึ่งต่อมารัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ตรา พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 ขึ้นใช้บังคับ

ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ภาพจากมูลนิธิเอสซีจี

ตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กำหนดที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปไว้ 3 ประเภท ได้แก่

  1. ที่ดินที่เป็นชุมชนเต็มรูปแบบมาแต่ก่อน แต่ต่อมาถูกประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบลหรือทั้งอำเภอ
  2. ที่ดินที่เป็นเรือกสวนไร่นาของราษฎรซึ่งได้ครอบครองทำกินกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ แต่ต่อมาถูกประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินครอบคลุมทั้งตำบลหรือทั้งอำเภอ
  3. ที่ดินป่าเสื่อมโทรมที่หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้อีก ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้โอนที่ดินดังกล่าวไปให้ ส.ป.ก. นำไปใช้ประโยชน์

โดยที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปจะใช้ทำเกษตรกรรมได้เพียงอยางเดียวเท่านั้น จะทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินต้องเป็นเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ซึ่งจะได้รับเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือที่เรียกกนว่า “ส.ป.ก. 4-01″

ใครได้รับที่ดิน ส.ป.ก.

คุณสมบัติของเกษตรกรผู้ที่จะมีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. นั้น ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2535 ระบุว่า

  1. มีสัญชาติไทย บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว (ไม่จำต้องบรรลุนิติภาวะ) แล้ว
  2. มีความประพฤติดี
  3. มีร่างกายสมบูรณ์สามารถประกอบการเกษตรได้
  4. จะต้องไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพด้วย

ดังนั้น ผู้ที่มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. จึงต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. กำหนดไว้เท่านั้น มิใช่เป็นเพียงเกษตรกรก็จะมีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดินดังกล่าว

ส่วนการสิ้นสิทธิในการทำประโยชน์บนที่ดิน ส.ป.ก. ตามข้อ 11 ของระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 2) 2540 ระบุว่า

  1. ตาย หรือเลิกเป็นเกษตรกร หรือสละสิทธิ เว้นแต่การตกทอดทางมรดกที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518
  2. โอนสิทธิการทำประโยชน์ การเช่า การซื้อ หรือจัดให้โดยมีค่าชดเชยไปยังบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518
  3. ขาดคุณสมบัติตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2535
ตัวอย่างโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ภาพจาก wipwup.com

ส.ป.ก.ซื้อขายได้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาที่ดิน ส.ป.ก.มักจะมีปัญหาการซื้อขายและการครอบครองที่ไม่ชอบเป็นจำนวนมาก หากว่ากันตามตัวบทกฎหมายแล้ว ที่ดิน ส.ป.ก. ไม่สามารถซื้อขายได้

อ้างอิงตามข้อ 7 (1) ของระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน 2535 ระบุว่า

“เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับมอบที่ดินให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินมีหน้าที่ ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองเต็มความสามารถ และไม่นำที่ดินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้บุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยการขาย ให้เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ หรือโดยพฤติกรรมใดๆที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น “


หากมีการซื้อขายกัน ต้องถือว่าเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การซื้อขายจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์