ฝีดาษลิงแพร่เชื้อทางอากาศได้หรือไม่ ? กรมวิทย์ตอบ

ฝีดาษลิง

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตอบ โรคฝีดาษวานร สามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้หรือไม่ ? พร้อมเผยความคืบหน้าการเพาะเชื้อของผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรีย

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการเฝ้าระวัง และตรวจหาเชื้อฝีดาษลิง ในกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่องจากชายไนจีเรียว่า จากการส่งตรวจ 27 ตัวอย่าง ที่เชื่อมโยงกับชายไนจีเรีย ผลตรวจเป็นลบ ส่วนการตรวจสิ่งแวดล้อม อาทิ ลูกบิดประตู ผ้าปูต่างๆ นั้น พบว่าผลเป็นบวก แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่า ที่เจอบวกนั้นสามารถแพร่เชื่อต่อได้หรือไม่

ทั้งนี้ การติดเชื้อต้องมีความใกล้ชิดกันมาก ๆ ส่วนการสัมผัสต่าง ๆ นั้น โดยปกติผิวหนังคนเราจะมีมาตรการป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกายอยู่แล้ว ยกเว้นว่า บริเวณผิวหนังมีบาดแผล หรือตามเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตา จมูก อาจจะมีความเสี่ยงได้ 

แต่มาตรการ 2P ที่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 นั้น สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ทั้งการล้างมือด้วยสบู่ และสเปรย์แอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง

อธิบดีกรมวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้เราได้มีการนำตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากแผลของผู้ติดเชื้อรายแรกในไทย มาทำการเพาะเชื้อเพิ่มปริมาณ ก่อนนำไปทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยที่เคยปลูกฝีดาษไปก่อนหน้านี้ว่าสามารถป้องกัน หรือทำลายเชื้อฝีดาษวานรได้หรือไม่ 

เบื้องต้นเชื้อไม่ค่อยขึ้น ขึ้นช้า จึงต้องรอเวลาอีกสักระยะหนึ่ง หากมีความคืบหน้ากรมวิทย์จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

เมื่อถามว่า มีผู้ออกมาให้ข้อมูลว่า บางสายพันธุ์ของโรคฝีดาษวานร สามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หู ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อทางอากาศ 

แม้แต่โรคโควิด-19 ที่ก่อนหน้านี้ออกมาบอกว่ามีการแพร่ทางอากาศ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งไวรัสโควิด เป็น RNA ซึ่งมีขนาดเล็กมากด้วยซ้ำ ในขณะที่เชื้อฝีดาษวานร เป็น DNA ไวรัส ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโอกาสกลายพันธุ์จะไม่เร็ว