อุปสรรค “สตาร์ตอัพไทย” นโยบายรัฐและสิ่งที่ควรสนับสนุน

สตาร์ตอัพไทย
รายงาน

ในงาน Techsauce Global Sumit2022 มีเวที APEC 2022 Thailand ในหัวข้อ Policy support for start-ups and Innovation in APEC ที่เชิญทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ตอัพ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดความเห็น ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เรียบเรียงประเด็นน่าสนใจไว้ดังนี้

มุมมองซีอีโอ “บิทคับ”

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปิตอล โฮลดิ้ง กล่าวถึงอุปสรรคของการสร้างบริษัทสตาร์ตอัพในประเทศไทยว่า การเข้าถึงเงินทุนถือเป็นอุปสรรคแรก แตกต่างจากในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่อุปสรรคนี้ได้ทลายลงไปตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้ถือเป็นยุคทองของการระดมทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยยกตัวอย่างกองทุน เทมาเส็ก ของสิงคโปร์ ที่รัฐบาลสนับสนุน เป็นกลไกสำคัญในการสร้างสตาร์ตอัพ

ขณะที่ในประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการที่ดีจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนที่ดีและเหมาะสมได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งของรัฐบาลไทย คือการสร้างเทมาเส็กของประเทศไทย เพื่อเป็นกองทุนที่สามารถอัดฉีดเงินให้สตาร์ตอัพจำนวนมากได้ ทำให้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนไอเดียของพวกเขาเป็นธุรกิจได้จริง

“ในสิงคโปร์ คนรุ่นใหม่เริ่มต้นด้วยกระดาษหนึ่งแผ่นที่มีความคิดว่าจะทำอะไร เมื่อเดินเข้าไปที่เทมาเส็กแล้วออกมาพร้อมเงินทุน แตกต่างกันมากกับประเทศไทยที่ช่วงเริ่มต้นจะยากมากที่จะเข้าถึงเงินทุน จนเมื่อสิ่งที่เราทำไปได้ดีจริง ๆ ภาคเอกชนต่าง ๆ จึงเข้ามาหาเราที่บิทคับ และต้องการลงทุนกับเรา ดังนั้น ในช่วงแรกภาครัฐควรให้การสนับสนุน เมื่อสตาร์ตอัพสร้างผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ในระยะต่อมา กองทุนของรัฐบาลค่อยก้าวออกไปแล้วให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนแทน”

อุปสรรคถัดมาคือ การขาดทุนมนุษย์ เพราะวิศวกรในประเทศไทยมีจำนวนน้อย จึงต้องมีนโยบายปลดล็อกการลงทุนในทุนมนุษย์ในต่างประเทศ หรือการลงทุนไปยังมหาวิทยาลัยในประเทศ เพื่อให้มีการฝึกอบรมชุดทักษะที่เหมาะสม เป็นต้น

“เมื่อบริษัทเติบโต เช่น กรณีบิทคับโต 2,000% ต่อปี เราต้องการกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ วิธีการระดมทุน ทรัพยากร ตลอดจนการเป็นที่ปรึกษาด้านจิตใจ เราต้องการพี่เลี้ยงที่ดีเพื่อพูดคุย ต้องการเครือข่ายผู้ก่อตั้งที่แข็งแกร่งของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงต้องทำให้มั่นใจว่าหน่วยงานกำกับดูแล และบริษัทเอกชนสามารถพูดคุยกันได้

ซึ่งขณะนี้มีช่องว่างการสื่อสารขนาดใหญ่ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แตกต่างกันหลายกลุ่ม ทั้งมีการแย่งชิงอำนาจของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่หยั่งรากลึกในประเทศ ต้องเอาสิ่งเหล่านี้ออก ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะไม่สามารถเติบโตได้ในทศวรรษหน้า แม้เราจะมีความสมบูรณ์ทั้งสภาพแวดล้อมและตําแหน่งทางภูมิศาสตร์”

Meta แนะเปิดพื้นที่ SME

ด้าน นายไมเคิล บาก หัวหน้าส่วนนโยบายสาธารณะ เมต้า (Facebook) ประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่โควิด-19 เป็นต้นมา ได้เกิดผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่ 70 ล้านคน ที่เริ่มซื้อของออนไลน์ เท่ากับจำนวนประชากร 70 ล้านรายในประเทศไทยที่เริ่มซื้อสินค้าออนไลน์อย่างกะทันหัน และเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะมีผลต่อผู้ประกอบการขนาดเล็ก และจากการทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิกพบ 3 ประเด็นสำคัญ

คือ 1.ผลกระทบจากโควิด ทำให้ธุรกิจเปลี่ยนไปสู่ออนไลน์ทั่วโลก จากงานวิจัยที่เมต้าทำ พบว่า 80% ของกิจการเอสเอ็มอีเปลี่ยนไปสู่ออนไลน์

“เมื่อบริษัทหรือธุรกิจขนาดเล็กเริ่มใช้เครื่องมือออนไลน์ โดยมากกว่าครึ่งใช้เฟซบุ๊ก เพื่อเข้าถึงลูกค้า ขณะที่ในประเทศไทยกว่า 80% พบว่าโฆษณาที่เมต้าปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลสำหรับธุรกิจในท้องถิ่นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากธุรกิจขนาดเล็ก”

การวิจัยยังพบว่า 41% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าสู่ออนไลน์มีรายได้เพิ่มขึ้น 25% จากปีที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสน้อยลงที่จะเลิกจ้างพนักงาน จากแนวโน้มยอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยการเปิดและปิดฟังก์ชั่นโฆษณาในเฟซบุ๊ก มีผลสัมพันธ์โดยตรงกับรายได้

ประการถัดมา คือความหลากหลายของผู้คน โดยพบว่าประสบการณ์ของธุรกิจขนาดเล็กในโลกออนไลน์มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องแรงบันดาลใจและชุมชน

ดังนั้น โปรแกรมต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงสตาร์ตอัพต่าง ๆ จึงต้องคำนึงถึงความหลากหลายด้วย

“เราไม่มีทางรู้ว่าไอเดียธุรกิจที่ยอดเยี่ยมจะมาจากไหน จากคนในกรุงเทพฯ ที่สามารถเข้าถึงโอกาสในการซื้อขายทุกประเภท หรือมาจากหญิงสาวในลําปางที่กําลังดูวิดีโอออนไลน์ และได้แรงบันดาลใจ ดังนั้น สิ่งที่เราทำคือติดต่อองค์กรในชุมชน และตัวแทนของกลุ่มชายขอบ ทั้งผู้ประกอบการหญิง, คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว, คนที่ติดเชื้อเอชไอวี, คนพิการ, ชาวเขา, ชุมชน LGBT เพราะผู้คนจำนวนมากในชุมชนเหล่านี้เป็นผู้ประกอบการ”

การวิจัยของ เมต้ายังแสดงให้เห็นว่าผู้คนจากกลุ่มด้อยโอกาส ถ้าประสบความสำเร็จจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ได้มาก และเมื่อผู้คนได้รับแรงบันดาลใจ พวกเขาต้องการซื้อสินค้าจากคนกลุ่มนี้ เพราะต้องการสนับสนุนสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้กําลังทำ

และประการสุดท้ายพบว่าเมื่อธุรกิจขนาดเล็กเติบโตขึ้น พวกเขาต้องการพื้นที่เพื่อพูดเกี่ยวกับปัญหาที่ซับซ้อน ที่กระทบกับพวกเขาจริง ๆ จึงควรเปิดโอกาสให้เข้าร่วมอภิปรายเพื่อเสนอแนะนโยบายต่าง ๆ

เร่งปลดล็อกข้อจำกัด

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ภาครัฐได้มีการปรับเงื่อนไขและหาวิธีการหลายอย่างเพื่อสนับสนุน สตาร์ตอัพด้านดิจิทัล โดยตลอดห้าปีที่ผ่านมาได้คิดอย่างรอบคอบว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างไร และดีป้าได้พยายามอย่างมากที่จะโน้มน้าวรัฐบาลมุ่งไปสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ต้องการ “ดิจิทัลสตาร์ตอัพ” เช่น ผลักดันนโยบาย วีซ่า ผู้พํานักระยะยาว เพื่อเชิญชวนให้พนักงานต่างชาติมาทำงานที่ประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนผ่านสถาบันการลงทุน และธนาคารจำนวนมาก เพื่อช่วยสตาร์ตอัพในการเริ่มต้นธุรกิจ

“เรามีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในการจะเป็นกลไกและเครื่องมือสนับสนุนให้กองทุนและสตาร์ตอัพได้เจอกัน รวมถึงส่งเสริมการลงทุนในซีรี่ส์ A ให้สตาร์ตอัพจำนวนมาก โดยปลดล็อกเงื่อนไขทางภาษีและการจับคู่สตาร์ตอัพกับธุรกิจใหญ่ รวมถึงลงทุนโดยตรงผ่านสมาร์ตซิตี้ ทั้งที่ส่วนกลางและท้องถิ่น ในการจ้างสตาร์ตอัพ สร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมือง โดยจับคู่เอกชนที่สนใจลงทุน ถือเป็นเครื่องมือใหม่ที่กำลังทำ”

นอกจากนี้ ระบบนิเวศด้านการชำระเงิน และการเอื้อต่อการพำนักของต่างชาติ จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล เพราะได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ยากที่สุดที่เกี่ยวกับ “ภาษี” เพื่อเอื้อให้ผู้คนได้เข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล