จังหวะก้าว ซินเน็ค-VSTECS การสยายปีกของ 2 ผู้นำเข้าสินค้าไอที

สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช-สุธิดา มงคลสุธี
สัมภาษณ์พิเศษ

ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และความผันผวนของค่าเงิน ส่งผลต่อทุกธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไอที แม้โควิดจะทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา และยังคงอยู่ แต่ทั้งหมดเป็นกลุ่มสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มากก็น้อยย่อมได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “สุธิดา มงคลสุธี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) หรือ SYNEX และ “สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) ทั้งคู่ถือได้ว่าเป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการไอทีบ้านเรา ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอทีรายใหญ่

สแกนตลาด-ปัญหาชิปขาด

“สมศักดิ์” มองว่าความต้องการสินค้าไอทีในตลาดคอนซูเมอร์อาจชะลอตัวลง เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ตลาดในกลุ่มคอมเมอร์เชียลและเอ็นเตอร์ไพรส์หรือตลาดองค์กรยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากความจำเป็นในการทรานส์ฟอร์มองค์กร นั่นทำให้ตั้งแต่เริ่มไตรมาส 3/2565 เป็นต้นมา ยอดขายในฝั่งคอนซูเมอร์เริ่มติดลบ กล่าวคือ มีสินค้าล้นตลาด แต่กำลังซื้อหดหาย ทุกคนคาดหวังว่าช่วงปลายปีจะดีขึ้น เพราะเป็นช่วงเทศกาลจับจ่าย

สำหรับบริษัทเองภาพรวมยอดขายในครึ่งปีแรกยังเติบโตราว 12% โดยตั้งเป้ายอดขายทั้งปีไว้ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท

“จริง ๆ ควรโตได้มากกว่านี้ แต่ความรุนแรงของซัพพลาย shortage ในกลุ่มสินค้าเอ็นเตอร์ไพรส์ เช่น เน็ตเวิร์กต่าง ๆ ทั้งซิสโก้และอารูบ้ายังมีอยู่ รวมถึงไฮเอนด์เน็ตเวิร์กอย่าง F5, Arista, Cisco, Aruba เรียกได้ว่าขาดตลาดทั้งหมด ต้องรอของนานเป็นปี เราเองยังโชคดีที่มีของที่สั่งไว้ค้างอยู่ตั้งแต่ปีที่แล้วทยอยส่งมา ทำให้ตัวเลขไต่ขึ้นมาได้ แต่ก็ยังโตได้น้อยแค่ 12% ถ้าของไม่ขาดก็น่าจะโตได้ถึง 16-18%”

ส่วนปัญหาชิปเซต shortage “สมศักดิ์” อธิบายต่อว่า ยังมีตามธรรมชาติของตลาด เนื่องจากดีมานด์การใช้ชิปสูงขึ้นมาก ซึ่งไม่ใช่ “ชิปเซต” ที่ใช้แค่ในมือถือเท่านั้น แต่ทั้งอุปกรณ์ IOT ต่าง ๆ ในรถยนต์ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ต้องใช้ “ชิป” ด้วยเช่นกัน

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมไปร่วมงาน VMware ที่สิงคโปร์ ก็มีการคาดการณ์กันว่า 2 ปีหลังโควิด โลกจะใช้อุปกรณ์ด้านไอทีสูงขึ้น 25% เพราะการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ทำให้ธุรกิจไอทียังเป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแสของความจำเป็นต้องใช้และต้องมี”

ด้านแม่ทัพหญิง “ซินเน็ค-สุธิดา” มองว่า ปัญหาสินค้าไอทีในฝั่งคอนซูเมอร์เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังมีความต้องการจากฝั่งองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ด้านไอที ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทยในปีนี้อยู่ที่ 8.7 แสนล้านบาท ครอบคลุมตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ตลอดจนโซลูชั่นต่าง ๆ

“เรายังเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องในกลุ่มคอนซูเมอร์ โดยเฉพาะกลุ่มเกมที่มีมูลค่าตลาด 3.8 หมื่นล้านบาท แต่ที่เราอยากโตขึ้นอีกคือ กลุ่ม B2B คอมเมอร์เชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ อยากเพิ่มจาก 3 พันล้านบาท เป็นหมื่นล้านบาท แม้จะไม่ได้โตแรงเหมือนในช่วงโควิด แต่คนหรือองค์กรจะไม่กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมแล้ว ความต้องการจึงยังมีอยู่อีกมาก แค่ไม่เท่าเดิม 2 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเราไม่กล้าตั้งเป้า เพราะแม้ตลาดจะมีความต้องการสูง แต่เราไม่มีสินค้า ตอนนี้มีแล้วจึงมั่นใจว่าจะได้ตามเป้า”

โดยปีนี้ซินเน็คตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 40,000 ล้านบาท เติบโตราว 12-15% จากปีที่แล้ว

เดินหน้าลงทุนหวังโต Inorganic

“สุธิดา” ฉายภาพต่อไปว่า ปัจจุบันผู้คนและองค์กรไม่ได้ซื้อคอมพิวเตอร์แค่เครื่องเดียว แต่ต้องมองให้ครบทั้งระบบนิเวศ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงเป็นความตั้งใจของซินเน็คที่จะขยายการลงทุนออกไปให้ครอบคลุมทุกส่วน

“การขายฮาร์ดแวร์เราต้องรักษาไว้เป็นแกนหลักของธุรกิจ แต่เมื่อคนไม่ได้ซื้อแค่คอมพิวเตอร์ เราจึงคิดต่อว่าทำไมไม่นำบริการอื่น ๆ ขายไปด้วย เช่น ระบบป้องกันภัยไซเบอร์ คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ดีลเลอร์นึกถึงเราเป็นคนแรก เมื่ออยากได้บริการอะไรก็ตาม เราจะมีให้ทันที การที่เราเข้าไปซื้อ Cybertron ให้บริการศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางระบบออนไลน์ ก็เพื่อรองรับแนวโน้มที่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ทำให้ความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านข้อมูล”

และต้องยอมรับว่าตลาดนี้ยังโตได้อย่างมีนัยสำคัญ และ Cybertron ทำให้ซินเน็ครองรับความต้องการของตลาดแบบครบวงจรมากขึ้น ทั้งด้าน hardware, software และการให้บริการในยุค digital transformation

“สุธิดา” กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทเติบโตทางรายได้เฉลี่ย 10% ต่อปีเรื่อยมา เป็นการโตแบบ organic growth แต่สิ่งที่ต้องการคือ ผลักดันการเติบโตแบบ inorganic growth จึงต้องมองหารายได้จากช่องทางอื่น เช่น การลงทุนในบริษัท Swopmart อีมาร์เก็ตเพลซสินค้าไอทีมือถือ หรือการเข้าไปซื้อหุ้น Cybertron และอื่น ๆ

“เรากำลังมองหาธุรกิจทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับเรา โดยเฉพาะด้านดาต้า ด้านบริการ และเทคโนโลยี แม้กระทั่งรถยนต์อีวี ถ้าเราพิจารณาแล้วเห็นว่าเกี่ยวกับเรา เพราะเมื่อรถยนต์เป็นไฟฟ้าเป็นดิจิทัล โดยเราเริ่มทำตัวชาร์จรถอีวีแล้ว”

และยังเสริมอีโคซิสเต็มด้วยการแยกธุรกิจโซลูชั่นบริการด้านไอที ในชื่อ Service Point ., LTD. ด้วยทุนจดทะเบียน 115 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนบริการหลังการขายให้พาร์ตเนอร์ หลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น authorized service center ให้สินค้าไอทีและสมาร์ทโฟนกว่า 21 แบรนด์ ให้บริการครอบคลุมทั้ง technical support, professional service, device as the service, contact center

รุกท้องถิ่นสร้างทีมเติมพอร์ต

ขณะที่วีเอสที อีซีเอส จะมุ่งเน้นไปที่การขยายทีมการขายและบริการเพื่อรุกพื้นที่ในต่างจังหวัดให้มากขึ้น “สมศักดิ์” กล่าวว่า การทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่ได้เกิดแค่ในกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องสร้างทีมเพื่อขยายพื้นที่ในการทำตลาดไปยังต่างจังหวัดด้วย แม้แต่ในตลาดภาครัฐ ซึ่งถือเป็นรายได้ก้อนใหญ่มาก เพราะรัฐบาลมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้เป็นหน่วยงานท้องถิ่น เช่น กทม. อบจ. อบต. ก็มีงบประมาณจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของบริษัทในการเข้าไปช่วยทรานส์ฟอร์ม

นอกจากนี้ ยังมีการขยายบริการเพิ่มเติมรองรับเทรนด์การใช้งาน เช่น จักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะเริ่มมีศูนย์บริการและฝึกช่างบำรุง ซึ่งจะทำให้เกิดโซลูชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อม และสร้างทีมเพื่อให้บริการโซลูชั่น “โซลาร์เซลล์” เนื่องจากได้เป็นตัวแทน inverter ของหัวเว่ย และมองว่าการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ไม่ใช่สิ่งที่ใครทำก็ได้ แต่มีความซับซ้อนในการจัดการ จึงเห็นโอกาส และล่าสุดเป็น exclusive partner สินค้า HP multifunction A3 (พรินเตอร์)


“ปีหน้าเราจะเน้นการสร้างทีม และสร้างความสัมพันธ์กับเหล่าดีลเลอร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยจะเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อคุยกับทุกคน จะได้รู้ว่าใครเป็นอย่างไร และจะได้สนับสนุนได้อย่างตรงตามความต้องการ”