ChatGPT แชตบอตอัจฉริยะ ที่รอปะทะ Google

ChatGPT
คอลัมน์ : Tech Time
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

นาทีนี้ไม่มีอะไรจะสร้างความฮือฮาบนโลกอินเทอร์เน็ตได้มากไปกว่าระบบแชตบอตตัวใหม่ที่มีชื่อว่า ChatGPT ที่ลือกันว่าอาจเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของกูเกิลในอนาคต

ChatGPT ใช้ large language model ในการเลียนแบบการสนทนาของมนุษย์ จัดว่าเป็นระบบแชตบอตอัจฉริยะตัวใหม่ล่าสุดที่พัฒนาขึ้นโดย OpenAI สตาร์ตอัพพัฒนาเอไอที่ได้รับทุนสนับสนุนหลักจากไมโครซอฟท์และคนดังมากมายในแวดวงไอที รวมถึงอีลอน มัสก์

หลังจากเปิดให้บริการในวันที่ 30 พฤศจิกายน ก็สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก เพราะนอกจาก ChatGPT จะสามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว มันยังมาพร้อมฟังก์ชั่นหลากหลาย ตั้งแต่ช่วยหาข้อมูล เขียนบทความ แต่งกลอน เขียนสคริปต์รายการ เขียนโค้ด ไปจนถึงผูกสูตรคำนวณยาก ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนสนใจสมัครใช้บริการกว่า 1 ล้านคนภายในเวลาแค่ 5 วันหลังเปิดตัว

แต่ข้อเสียของ ChatGPT คือ ระบบเพิ่งพัฒนาได้ไม่นาน เลยมีข้อมูลจำกัดถึงแค่ปี 2021 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่าข้อมูลก็ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก ซึ่งหากคนใช้ไม่รู้ข้อเท็จจริงอยู่แล้วก็อาจโดนหลอกได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความอัจฉริยะและความสามารถในการใช้ภาษาที่เหมือนมนุษย์ ทำให้คาดว่า ChatGPT น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริการหลายอย่าง โดยเฉพาะบริการลูกค้าสัมพันธ์ เพราะมันสามารถตอบคำถามลูกค้าหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน

นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าในอนาคต ชาวเน็ตอาจใช้ ChatGPT ในการค้นหาข้อมูลแทนการเสิร์ชผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้น เพราะจะได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการทันทีโดยไม่ต้องคลิกอ่านลิงก์เป็นสิบเป็นร้อยเหมือนก่อน

ซึ่งแนวโน้มนี้น่าจะเป็นภัยกับกูเกิลเสิร์ชเอ็นจิ้นอันดับหนึ่งของโลกมากที่สุด จนลือกันว่า ChatGPT อาจมาแทนที่กูเกิลในอนาคต ซึ่งคนที่กังวลกับเทรนด์นี้ที่สุดก็หนีไม่พ้นพนักงานของกูเกิลเอง ที่พากันรัวคำถามในประเด็นนี้ใส่ผู้บริหารในการประชุมภายในที่เพิ่งผ่านมา

CNBC รายงานว่า หนึ่งในคำถามหลัก ได้แก่ คำถามที่ว่า บริษัทกำลังจะสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันหรือไม่ และบริษัทมีความพร้อมแค่ไหนกัน การรับมือกับบริการใหม่ ๆ อย่าง ChatGPT

ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอกูเกิล ยืนยันกับพนักงานว่า บริษัทมีความพร้อมในการให้บริการต่าง ๆ บนระบบเอไอ รวมถึงมีแชตบอตของตัวเองมาสักพักแล้ว ภายใต้ชื่อ LaMDA (language model for dialogue applications) แต่ที่ยังไม่เปิดให้บริการแก่สาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ เพราะต้องทำให้มั่นใจก่อนว่า มันสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้อง มิฉะนั้น หากมีอะไรผิดพลาด ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ใช้มีต่อบริษัทได้

ปัจจุบันกูเกิลมีผู้ใช้งานหลายพันล้านคนทั่วโลก โดยมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเสิร์ชเอ็นจิ้นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านเหรียญ ดังนั้น บริษัทจึงค่อนข้างระมัดระวังในการออกบริการใหม่ ๆ เพราะหากมีความผิดพลาดขึ้นจะมีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ มากกว่าสตาร์ตอัพขนาดเล็ก

ในขณะที่ OpenAI ซีอีโอแซม อัลท์แมนเองก็ยอมรับว่า ChatGPT ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก และผู้ใช้ควรพิจารณาข้อมูลที่ได้อย่างระมัดระวัง เพราะตอนนี้ระบบยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา และบริษัทยังมีงานต้องทำอีกมากในการเพิ่มความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูล

นักวิเคราะห์และคนในวงการหลายคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคิดว่า ChatGPT จะมาแทนที่กูเกิล

นาฟรินา สิงห์ ซีอีโอของ Credo AI บอกกับ Yahoo ! Finance ว่า ถึงแม้ ChatGPT จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญในวงการแชตบอต แต่ก็มีข้อเสียหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากไม่ระวังให้ดีอาจถูกใช้เพื่อเผยแพร่เฟกนิวส์ได้ง่าย ๆ

นิมา เช ซีอีโอของ Hummingbirds AI ชี้ว่า ข้อดีของ ChatGPT คือ ความสามารถในการสื่อสารที่เหมือนมนุษย์ แต่ข้อได้เปรียบของกูเกิล คือ การมีฐานข้อมูลที่ใหญ่กว่ามาก

ในขณะที่ เรซ่า ซาเดห์ ผู้ก่อตั้ง Matroid มองว่า การที่ไมโครซอฟท์ลงทุนใน OpenAI กว่า 1 พันล้านเหรียญ โดยที่บริษัทเองก็มีเสิร์ชเอ็นจิ้นของตัวเองที่ชื่อว่า Bing น่าจะเป็นประเด็นที่น่าจับตา เพราะอาจมีการบูรณาการบริการของทั้ง 2 บริษัทในอนาคตก็เป็นได้

ถึงอย่างนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ทั้ง ChatGPT และกูเกิล ต่างมีข้อดีและข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น คนที่อยากได้คำตอบหรือข้อมูลเร็ว ๆ ChatGPT น่าจะตอบโจทย์มากกว่า ส่วนใครที่อยากได้ตัวเลือกมากหน่อย และอยากอ่านรายละเอียดจากหลาย ๆ แหล่งที่มา ก็น่าจะชอบกูเกิลมากกว่า

ท้ายที่สุดแล้ว แม้จะไม่มีใครเชื่อว่า ChatGPT จะมาแทนที่กูเกิลได้ในเร็ววัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ChatGPT คือก้าวย่างที่สำคัญในโลกเอไอ ซึ่งจากผลตอบรับอย่างท่วมท้นจากผู้ใช้งานทั่วโลกภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า เทรนด์ในการใช้งานของชาวเน็ตกำลังจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด