Meta รายได้หด รายจ่ายบาน

Meta
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

และแล้วก็เป็นไปตามคาด หุ้น Meta ร่วงทันที 17 เปอร์เซ็นต์หลังประกาศผลประกอบการล่าสุดติดลบเป็นไตรมาส 2 ติดต่อกัน

รายได้รวมของบริษัทลดลง 4 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 27,700 ล้านเหรียญ โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,400 ล้านเหรียญ หรือลดลงกว่าครึ่งจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021

หลังจากเติบโตอย่างต่อเนื่องนับจากนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปีนี้นับเป็นปีแรกที่ Facebook มีผลประกอบการติดลบ และน่าจะถือเป็นปีที่ท้าทายที่สุดสำหรับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

แม้บิ๊กเทครายอื่นจะมีรายได้จากการโฆษณาลดลงเช่นกันอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้ลูกค้าตัดงบฯโฆษณาเป็นทิวแถว แต่ Meta ดูจะถูกจับจ้องเป็นพิเศษจากนักลงทุนและผู้ถือหุ้น เพราะนอกจากรายได้จะน้อยลงแล้ว รายจ่ายยังพุ่งขึ้นอีกกว่า 19 เปอร์เซ็นต์

โดยรายจ่ายหลักน่าจะมาจากการทุ่มพัฒนา “เมตาเวิร์ส” ที่ปีนี้ผลาญเงินไปแล้วกว่า 9,400 ล้านเหรียญ

ในขณะเดียวกัน ยอดผู้ใช้งานก็เติบโตน้อยลงท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรง โดย Facebook มีผู้ใช้งานประเภท monthly active users ณ สิ้นไตรมาสอยู่ที่ 2,960 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นเพียง 2 เปอร์เซ็นต์น้อยกว่าปีก่อนที่เคยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6 เปอร์เซ็นต์

ซ้ำร้าย CFO ของบริษัทอย่าง เดวิด เวย์เนอร์ ยังคาดว่า รายจ่ายที่บริษัทลงทุนไปในการสร้าง “เมตาเวิร์ส” มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกในปีหน้า ในขณะที่รายได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่า จะอยู่ที่ 30,000-32,500 ล้านเหรียญหรือลดลงจากปีที่แล้วราว 3.5 เปอร์เซ็นต์

แน่นอนว่าตัวเลขเหล่านี้ย่อมทำให้ผู้ถือหุ้นไม่สบายใจ เช่น Altimeter Capital หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถึงกับต้องออกโรงเรียกร้องให้บริษัทลดพนักงานลงอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ และคุมงบฯลงทุนใน “เมตาเวิร์ส” ให้ไม่เกิน 5 พันล้านเหรียญต่อปี

ในฐานะผู้คุมงบการเงินของบริษัท เดวิดได้แต่ให้คำมั่นว่าบริษัทจะพยายามคุมงบฯให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะพยายามคุมจำนวนพนักงาน ณ สิ้นปีไม่ให้มากไปกว่าที่มีอยู่ (ณ สิ้นเดือน ก.ย. มีพนักงานทั้งสิ้น 87,314 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28 เปอร์เซ็นต์)

แต่สิ่งที่นักสังเกตการณ์กำลังกังขา คือ แรงกดดันจากผู้ถือหุ้นเหล่านี้ส่งผลมากน้อยเพียงใดต่อความหมกมุ่นของมาร์ก ที่มีต่อโครงการ “เมตาเวิร์ส” ของเขาหรือไม่ ?

หากดูจากการประชุมกับนักวิเคราะห์รอบล่าสุด คำตอบ คือ “ไม่”

เพราะมาร์กยังคงยืนยันว่า นอกเหนือจากการพัฒนา AI เพื่อช่วยขับเคลื่อนบริการอย่าง Reels และงานโฆษณาแล้ว “เมตาเวิร์ส” ยังคงยืนหนึ่งในฐานะเป้าหมายหลักที่บริษัทให้ความสนใจต่อไปในปีหน้า

ระหว่างการประกาศผลประกอบการล่าสุด มาร์กยืนยันความเชื่อของเขาว่า นักลงทุนที่อดทนลงทุนในบริษัทต่อไปจะได้รับผลตอบแทนในท้ายที่สุด

แน่นอนว่า นักลงทุนที่ยังศรัทธาและเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของมาร์กก็ยังมีอยู่ แต่พวกที่ไม่เชื่อก็มีไม่น้อย ดูได้จากมูลค่าหุ้นของบริษัทที่หายไปกว่า 2 ใน 3 ก่อนที่จะมีการประกาศผลประกอบการล่าสุด ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ ทั้งภาวะเงินเฟ้อ พิษภัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน กฎระเบียบที่เข้มงวด และการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งน่าจะยังเป็นปัจจัยที่กดดันธุรกิจของ Meta ต่อไปในปีหน้า

แต่มาร์กไม่ใช่ไก่อ่อนในวงการ ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่สามารถสร้าง Facebook จนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้จนถึงวันนี้ และถึงแม้ว่ารายได้ของบริษัทอาจจะอยู่ในช่วงขาลง ก็ไม่ได้หมายความว่า Facebook จะอัตคัดขัดสน

ตรงกันข้าม บริษัทยังคงอู้ฟู่และรวยมาก ด้วยตัวเลขกำไรสุทธิถึง 4.4 พันล้านเหรียญ และกระแสเงินสดอีกกว่า 9.6 พันล้านเหรียญ หมายความว่า เขามีเงินเพียงพอจะนำไปสานฝัน “เมตาเวิร์ส” ต่อไปอีกได้เป็นสิบปี

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของ CNBC ซึ่งอ้างอิงจดหมายที่มาร์ก
เคยส่งให้นักลงทุนก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อปี 2012 ได้ย้ำเตือนความทรงจำของนักลงทุนอีกครั้งว่า สำหรับมาร์กแล้ว Facebook ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำเงิน แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก และการ “ทำเงิน” เป็นเพียงแค่หนทางไปสู่เป้าหมายเท่านั้น

หนึ่งในวรรคทองที่มาร์กเขียนในจดหมายฉบับนั้น คือ “เราไม่ได้สร้างบริการขึ้นมาเพื่อหาเงิน แต่เราหาเงินเพื่อนำมาสร้างบริการที่ดีขึ้นต่างหาก” ซึ่งอาจแปลได้ว่า สำหรับมาร์กแล้ว เงินไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกต่างหากที่เขาต้องการ

สำหรับแฟนคลับถ้อยคำนี้อาจฟังดูเสนาะหูสมกับเป็น “วิสัยทัศน์” ของเจ้าพ่อโซเชียลมีเดียแห่งยุค แต่สำหรับนักลงทุนแล้วอาจกำลังรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ เพราะไม่รู้ว่าบริษัทจะต้องหมดเงินไปอีกเท่าไรกว่าจะทำให้โครงการ “เมตาเวิร์ส” ของมาร์กเป็นจริง