JD Central โบกมือลาอีคอมเมิร์ซ ปิดให้บริการตั้งแต่ 3 มีนาคม 2566

JD Central เจดี เซ็นทรัล
ข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2566

ไปต่อไม่ไหว JD Central โบกมือลาวงการ e-Commerce ประกาศปิดให้บริการตั้งแต่ 3 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ส่วนศูนย์บริการหลังการขาย เปิดให้บริการจนถึง 31 มีนาคม 2566

วันที่ 30 มกราคม 2566 บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ JD Central ประกาศ ปิดการให้บริการอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยแถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า การสั่งซื้อสินค้าผ่านร้านค้าอย่างเป็นทางการของ JD Central (Official Store) จะปิดการสั่งซื้อตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 23.59 น. เป็นต้นไป และการสั่งซื้อผ่านร้านค้าอื่น ๆ ในแพลตฟอร์ม JD Central จะปิดการสั่งซื้อตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 เวลา 23.59 น. เป็นต้นไป

ส่วนการจัดส่งและบริการหลังการขาย บริษัทระบุว่า จะจัดการคำสั่งซื้อสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์ ก่อนและภายในวันที่ 3 มีนาคม 2566 โดยเวลาการจัดส่งจะขึ้นอยู่กับการดำเนินการของบริษัทขนส่งภายนอกและผู้ขาย และศูนย์บริการหลังการขาย (Customer Services) จะยังเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ตั้งแต่ 09.00-18.00 น.

สำหรับเหตุผลของการปิดให้บริการ บริษัทระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของ JD.com ที่มุ่งเน้นในการขยายและพัฒนาธุรกิจในตลาดต่างประเทศ โดยการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนข้ามพรมแดนผ่านการกระจายสินค้าและการขนส่งเป็นหลัก

สำหรับ เจดี เซ็นทรัล (JD Central) เปิดให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2561 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง กลุ่มเซ็นทรัล ยักษ์ใหญ่วงการสรรพสินค้าของไทย และเจดี ดอทคอม (JD.com) บริษัทค้าปลีกออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยชูจุดเด่นเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมของแท้ 100%

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุผลประกอบการเมื่อปี 2564 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 7,443,356,966.00 บาท รายจ่ายรวม 9,373,797,271.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,930,440,305.00 บาท และนับตั้งแต่เปิดบริการเมื่อปี 2561 บริษัทยังมีภาวะขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง

ขาดทุนต่อเนื่อง 5 ปี

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าตั้งแต่ปี 2560-2564 เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ ขาดทุนต่อเนื่องตลอด 5 ปี เนื่องจากแม้รายได้จะเติบโต แต่ไม่สามารถตามรายจ่ายได้ทัน

ปี 2564

รายได้รวม 7,443,356,966.00 บาท
รายจ่ายรวม 9,373,797,271.00 บาท
ขาดทุนสุทธิ 1,930,440,305.00 บาท

ปี 2563

รายได้รวม 3,491,691,996 บาท
รายจ่ายรวม 4,867,198,206 บาท
ขาดทุนสุทธิ 1,375,506,210 บาท

ปี 2562

รายได้รวม 1,284,831,719 บาท
รายจ่ายรวม 2,627,186,023 บาท
ขาดทุนสุทธิ 1,342,609,390 บาท

ปี 2561

รายได้รวม 458,417,184 บาท
รายจ่ายรวม 1,402,470,273 บาท
ขาดทุนสุทธิ 944,120,208 บาท

ปี 2560

รายได้รวม 522,296 บาท
รายจ่ายรวม 4,320,741 บาท
ขาดทุนสุทธิ 3,799,465 บาท

ตลาดเหลือ 2 รายหลัก

การยุติการให้บริการของ JD CENTRAL ทำให้วงการออนไลน์มาร์เก็ตเพลซของไทยมีผู้เล่นรายใหญ่เหลือเพียง 2 รายคือ ลาซาด้า ซึ่งมีอาลีบาบายักษ์อีคอมเมิร์ซจีนที่ก่อตั้งโดย “แจ็ก หม่า” ถือหุ้นใหญ่ และช้อปปี้ ภายใต้เครือ SEA จากสิงคโปร์

โดยในกลุ่มนี้ ลาซาด้า เป็นรายแรกที่สามารถพลิกมามีกำไรได้ ด้วยตัวเลขกำไร 226.9 ล้านบาทเมื่อปี 2564 และเป็นการมีกำไรครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่ช้อปปี้ยังคงขาดทุนต่อเนื่อง โดยปี 2564 มีรายได้ 13,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129% แต่ขาดทุนสุทธิ 4,972 ล้านบาท มากขึ้น 19%

หลังจากเดือนมีนาคมนี้ต้องจับตาความเคลื่อนไหวในวงการออนไลน์มาร์เก็ตเพลซว่าการกลับมาเหลือผู้เล่นใหญ่ 2 รายจะส่งผลอย่างไรกับตลาด