“ฮันนี่เวลล์” หนุนไทยแลนด์ 4.0 ควัก 50 ล้านเหรียญเล็งลงทุนใน EEC

EEC เนื้อหอม - เข้ามาทำธุรกิจในไทยกว่า 20 ปี ล่าสุด "ฮันนี่เวลล์" เสนอตัวที่จะเข้าไปพัฒนาโครงสร้างของอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

“ฮันนี่เวลล์” เล็งลงทุน EEC เจาะโครงสร้างพื้นฐาน ชูนวัตกรรมเสริมแกร่งเจาะกลุ่มการบิน อาคาร โซลูชั่นความปลอดภัย หนุนไทยแลนด์ 4.0 พร้อมเปิดตลาดรับกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มจำนวนพุ่งสูง ปักธงงบฯลงทุนในไทยปีนี้ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายไบรอันด์ เกรียร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮันนี่เวลล์ (Honeywell) ประจำภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า บริษัทสนใจจะเข้าไปลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล และมองว่าประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเตรียมเข้าพบกับรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อหาแนวทางร่วมกันสนับสนุนโครงการนี้ อาทิ การสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเขต EEC ทั้งในส่วนของอาคาร และสนามบิน

ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยกว่า 20 ปี ผ่าน 3 บริษัทย่อย ได้แก่ 1.Honeywell Systems (Thailand) ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯและระยอง 2.Honeywell Electronic Material (Thailand) ตั้งอยู่ที่ชลบุรี 3.Honeywell Holdings (Thailand) ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ รวมมีพนักงานกว่า 600 คน ทั้งยังมีการลงทุนในไทยต่อเนื่อง ปีนี้ตั้งเป้าลงทุนในไทยอีกราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ในฐานะที่บริษัทเป็นซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมชั้นนำของโลก พร้อมจะช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ด้วยการนำนวัตกรรมเสริมแกร่งให้อุตสาหกรรม ซึ่งฮันนี่เวลล์ เชี่ยวชาญใน 4 ธุรกิจหลักคือ 1.การบินและอวกาศ 2.เทคโนโลยีและโซลูชั่น ด้านที่พักและอาคาร 3.วัตถุดิบและเทคโนโลยี สำหรับอุตสาหกรรม 4.โซลูชั่นด้านความปลอดภัยและการเพิ่มผลผลิต”

โดยบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับองค์กรต่าง ๆ เช่น เรื่องระบบของการไร้สาย การทรานส์ฟอร์เมชั่น การใช้โซลูชั่นเพื่อประสิทธิภาพ ด้วยจุดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่บริษัทมีวิศวกรทั่วโลกกว่า 2.3 หมื่นคน และมีศูนย์วิจัย ศูนย์วิศวกรรมอีก 150 แห่ง

สำหรับรายได้ของบริษัทที่ผ่านมาเกือบ 50% มาจากผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน เช่น ระบบการควบคุมการจราจร ระบบการควบคุมทางอากาศ ซึ่งจะช่วยลดสาเหตุของการเกิดโลกร้อน ขณะที่จะขยับจากที่เจาะกลุ่มภาคอุตสาหกรรมไปสู่การเจาะกลุ่มที่ตอบรับพฤติกรรมของชนชั้นกลางมากขึ้น เนื่องจากมีการขยายตัวอย่างมาก คาดการณ์ว่าในปี 2573 ชนชั้นกลางทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1.8 พันล้านคน เป็นเกือบ 5 พันล้านคน


“GDP ของไทยอยู่ที่ราว 4% จึงเป็นตลาดที่สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งของอาเซียนที่มีศักยภาพเติบโตสูง ด้วยการเปิดรับนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ตลาดรวมด้านเทคโนโลยีในไทย ในช่วง 5 ปีจากนี้มีอัตราเติบโตสูงกว่า GDP ของประเทศ”