อดีต กสทช. เผยศาลรับคำฟ้องมติควบรวม “ทรู-ดีแทค” จบด้วยไกล่เกลี่ย

สุภิญญา มอง การกลับคำสั่งศาลปกครอง รับฟ้องเพิกถอนมติควบรวม “ทรู-ดีแทค” ของ กสทช. กระบวนการยาวนาน ควบรวมไปแล้วเลิกยาก สุดท้าย คือ การหาทางออกร่วมกันตามเงื่อนไขกำกับดูแล จับตาเอกชน “ฟ้องสอด” 

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีที่ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ยื่นฟ้องขอเพิกถอนมติ กสทช. ที่ให้ควบรวม ทรู และ ดีแทค

เป็นความเคลื่อนไหวที่ส่งผลทางด้านสังคมอย่างมาก เพราะศาลฯ ยกเหตุผลเรื่องการที่ผู้บริโภคเสียประโยชน์จากการควบรวมกิจการด้วย

“แม้ว่าผู้ฟ้องจะเป็นคนละส่วนกับสภาองค์กรของผู้บริโภค แต่เราก็กำลังจับตาดูและจะร่วมสร้างโมเมนตัมทางสังคมได้อย่างไร เพราะศาลแสดงให้เห็นว่ามีผลกระทบกับผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.”

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทางกฎหมายเพื่อพิจารณาคดีดังกล่าวย่อมกินเวลายาวนาน และเอกชนได้ดำเนินการควบรวมไปแล้ว ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงมีผลกระทบกับหลายส่วน หากมีการเปลี่ยนแปลงมติดังกล่าวย่อมกระทบการการรวมธุรกิจที่ทำไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น กรณี “แอชตัน อโศก” ที่มีการดำเนินคดีทางปกครองกันยาวนาน แต่ในทางปฏิบัติตึกนั้นก็ยังอยู่และมีคนอยู่อาศัย

“ดังนั้นหากเอกชนเห็นว่าตนมีส่วนได้ส่วนเสียกับคดีนี้ อาจมีการ “ฟ้องสอด” ร่วมกับ กสทช. เพื่อปกป้องผลกระทบ และผู้บริโภคก็อาจยกเรื่อง กสทช. ไม่กำกับดูแลการควบรวมให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงในมติ ดังนั้นกระบวนการจะต้องใช้เวลา และอาจจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยหาทางออกร่วมกัน”

ADVERTISMENT

นางสาวสุภิญญา อธิบายด้วยว่า เมื่อตอนทำหน้าที่เป็น กสทช. อยู่นั้น มีการฟ้องสอดอยู่บ่อยครั้ง แม้จะไม่มีคู่กรณีเป็นผู้บริโภค แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ามีการไกล่เกลี่ย

ตัวอย่าง กรณีข้อพิพาทที่ช่อง 3 ฟ้อง กสทช. กรณีที่ กสทช. สั่งให้ช่อง 3 ยุติการออกอากาศคู่ขนานระหว่างทีวีดิจิทัลและอนาล็อกซึ่งช่อง 3 ไม่ยอม ทำให้ “ไทยพีบีเอส” ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีตอนนั้นจึงเห็นว่าการที่ช่อง 3 ยังไม่ยุติออกอากาศจะส่งผลต่อตน จึงมีการ “ฟ้องสอด” ข้าง กสทช. ผลจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยหาทางออกร่วมกัน นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านระบบออกอากาศจากทีวีแอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลในที่สุด

ADVERTISMENT